25 กรกฎาคม 2554

ผู้หญิงอุษาคเนย์ เป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีผู้ชายเป็นบริวาร

บรรพชนคนอุษาคเนย์โดยทั่วไป ยกย่องผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมของเผ่าพันธุ์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว
         ทุกวันนี้ยังมีร่องรอยยกย่องผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมอยู่ในหลายประเทศ เช่น พม่า,  เขมร, ลาว, ไทย
         ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างนี้ ควรที่ประชาคมอาเซียนในอนาคตจะได้ทำความเข้าใจร่วมกันให้ถ่องแท้อย่างมีพยานหลักฐาน แล้วแบ่งปันออกไปสู่สาธารณะให้กว้างขวาง
         น่าเชื่อว่าจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้หญิงและผู้ชาย แล้วมีพลังสร้างสรรค์สังคมของตนให้ก้าวหน้า
ผู้หญิงเป็นหัวหน้า 
         3,000 ปีมาแล้ว ชุมชนหมู่บ้านกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ มีลักษณะกว้างๆ คล้ายคลึงกัน คือมีชุมชนขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง และมีชุมชนขนาดเล็กเป็นบริวาร 
         บางชุมชนเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แต่บางชุมชนมีชาติพันธุ์ต่างกัน เพราะมีคนหลายกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณอุดมสมบูรณ์แห่งเดียวกันอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาไม่มีวันจบสิ้น ทำให้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์
         บางชุมชนขยายตัวออกไปกว้างขวางกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง ชุมชนอย่างนี้สมัยหลังต่อมาเรียกว่าเมือง มีขนาดและความก้าวหน้าไม่เท่ากัน แต่ต่างเกี่ยวดองติดต่อไปมาหาสู่สัมพันธ์กัน
“เจ้าแม่โคกพนมดี” เป็นโครงกระดูกผู้หญิง ประดับประดาด้วยลูกปัดราว 120,000 เม็ด (หนึ่งแสนสองหมื่นเม็ด) มีทั้งเปลือกหอยรูปตัว I และแบบแว่นกลม แล้วยังมีแผ่นกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ, และเครื่องประดับศีรษะ เป็นต้น แสดงว่าเป็นศพของบุคคลสำคัญระดับแม่มดหมอผี หัวหน้าเผ่าพันธุ์ รูปนี้เป็นหลุมศพที่นักโบราณคดีขุดพบที่บ้านโคกพนมดี อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี
ผู้หญิงเผ่าละเวนในลาว สะพายตะกร้าไว้ข้างหลัง มีเครื่องประดับที่หู คอ แขน ฯลฯ เหมือนเครื่องรางตามจารีตประเพณีดึกดำบรรพ์ของบรรพชนคนอุษาคเนย์ ภาพนี้ชาวยุโรปถ่ายไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910)
ม้อย คนพื้นเมืองดั้งเดิมบริเวณพรมแดนลาว-เวียดนาม มีเครื่องประดับเหมือนเครื่องราง ภาพสมัยรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เวียดนาม
ชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลาง มีผู้หญิงเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ปกครองดูแลควบคุมไปถึงชุมชนที่เป็นบริวารด้วย  
         ผู้ที่เป็นหัวหน้าภายหลังต่อมาอีกนานได้ชื่อเรียกว่าเจ้าเมือง นับเป็นหน่วยทางการเมืองยุคแรกเริ่มที่ผู้คนรวมตัวกันขึ้นมา
ผู้หญิงปูนปั้นดินเผา พบในหลุมฝังศพเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว (ซ้าย) ในภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ (ขวา) ในอีสาน

 ผู้หญิง เป็นแม่มดหมอผี (หมายถึงผู้รู้ทั่วดินฟ้า) หัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีอำนาจมากสุดในชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้วของอุษาคเนย์
         คำว่าแม่ แปลว่าผู้เป็นใหญ่หรือหัวหน้า ใช้เรียกยกย่องผู้หญิง แล้วยังใช้เรียก สิ่งสำคัญๆ สืบมาในภาษาไทยว่า แม่น้ำ กระทั่งผู้ชายที่เป็นใหญ่ในกองทัพสมัยหลัง        ยังเรียกด้วยคำดั้งเดิมว่า แม่ทัพ
         ผู้ชายคือบริวารของผู้หญิง ยังมีร่องรอยเหลือเค้าอยู่ในพิธีแต่งงานทุกวันนี้ เรียกผู้หญิงว่า เจ้าสาว แปลว่า นาย เรียกผู้ชายว่า เจ้าบ่าว แปลว่า ขี้ข้า
         เมื่อแต่งงานแล้วผู้ชายต้องอยู่บ้านผู้หญิง ไปเป็นบ่าว (ปั่ว, ผัว) ไม่มีปากไม่มีเสียง เพราะอยู่ท่ามกลางญาติเมีย
         ศาสนาผี เป็นสมบัติของผู้หญิง บรรดาผี เช่น ผีฟ้า (ลาว), ผีมด (เขมร), ผีเม็ง (มอญ) ลงทรงผู้หญิงเท่านั้น ไม่ลงทรงผู้ชาย
         ผู้หญิงเป็นเจ้าของพิธีกรรมเลี้ยงผี ผู้ชายเป็นบริวารของผู้หญิง คอยรับใช้ในพิธีกรรม
ผู้หญิงติดต่อต่างถิ่น
         สิทธิพิเศษของหัวหน้าชุมชน คือมีที่ฝังศพของตระกูลอยู่บริเวณสำคัญ เช่น เนินดินศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่บางแห่งอยู่กลางหมู่บ้าน ฯลฯ
         สิ่งของที่พบจำนวนมากพร้อมโครงกระดูกบริเวณที่ฝังศพของโคตรตระกูลหัวหน้าชุมชนจึงมีบางอย่างเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เช่น มโหระทึก แผ่นหินกลมๆ รูปหยักๆ คล้ายจักร ฯลฯ
สัญลักษณ์ “หัวหน้า” ผู้เป็นใหญ่ รูปคล้ายจักรทำด้วยหินและกระดูกสัตว์ พบที่โคกพลับ ต. โพหัก อ. บางแพ จ. ราชบุรี

หัวหน้าหรือเจ้าเมืองของชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ทะเล คือผู้มีสิทธิ์และอำนาจค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนต่างถิ่นและชาวต่างชาติที่มาทางทะเล เริ่มจากการค้าขนาดเล็กๆ แคบๆ ระยะทางสั้นๆเลียบชายฝั่ง แล้วค่อยๆ เติบโตขยายกว้างขวางห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ทั้งทางตะวันออก คือ เวียดนาม จีน และทางตะวันตก คือ ชมพูทวีป (อินเดีย) กับหมู่เกาะ ฯลฯ
         นอกจากนั้นยังมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ภายในตามเส้นทางแม่น้ำลำคลองและช่องเขาทางบกทุกทิศทาง เช่น ขึ้นไปถึงดินแดนเตียนหรือเทียน (ในเขตมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน) ลุ่มน้ำคง (หรือสาละวิน ในภาคเหนือของพม่า) ลุ่มน้ำดำ-แดง (ในภาคเหนือของเวียดนาม) จนถึงมณฑลกวางสี-กวางตุ้งของจีน
         สิ่งของมีค่าจากที่อื่นๆ ที่อยู่ห่างไกล เช่น มโหระทึก ลูกปัดแก้วและหิน เครื่องมือเครื่องใช้แบบพิเศษ ฯลฯ มักพบฝังรวมอยู่ในหลุมศพของบุคคลสำคัญเกือบทุกแห่ง จะต่างกันก็เพียงปริมาณมากหรือน้อยเท่านั้น 
สุจิตต์ วงษ์เทศ : http://www.sujitwongthes.com/2011/07/weekly22072554/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น