22 กรกฎาคม 2554

นิติราษฏร์ ฉบับ ๒๖ (ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช)

ภารกิจสำคัญปัจจุบันของรัฐ : กิจการด้านการต่างประเทศ
-I-
กิจการด้านการต่างประเทศ (Foreign Affairs) เป็นภารกิจสำคัญมากในยุคปัจจุบันของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่กระแสความคิดเรื่องประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและการค้าเสรีกำลังเป็นกระแสหลักอยู่ ในเวลานี้ บวกกับความเจริญทางเทคโนโลยีอย่างการใช้อินเตอร์เนต และ Facebook 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เล็งเห็นความสำคัญกับการดำเนินวิเทโศบายของรัฐบาล ถึงกับบัญญัติไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 82 ที่บัญญัติว่า

“รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ

รัฐต้องส่งเสริมการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวกับนานาประเทศ ตลอดจนต้องให้ความคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ”

ดังนั้น กิจการด้านการต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องให้ความสนใจมากขึ้น จะ เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้อีกต่อไปและที่สำคัญที่สุด คนไทยจะต้องรู้จักใช้ รู้จักอ้างสนธิสัญญา หรืออนุสัญญาต่างๆที่ไทยเป็นภาคีมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) รวมทั้งหากเห็นว่าการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้ม ครองสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนก็จะต้องกระตุ้น ผลักดันให้รัฐบาลเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้เพื่อให้มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของเราทัดเทียมกับมาตรฐานระหว่าง ประเทศ
-II-
ในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านการต่างประเทศของไทยหลายเรื่องอันจะเป็นภาระหนักแก่รัฐบาลใหม่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำสั่งของศาลโลกเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (interim protection) กรณีที่ประเทศไทยกำลังสูญเสียสิทธิในวงโคจรสถิต (Geostationary orbit) ในอวกาศ และกรณีที่ศาลเยอรมันออกคำสั่งอายัดอากาศยาน 

สำหรับกรณีของสิทธิในวงโคจรสถิตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐมูลค่ามหาศาลและตำแหน่งบนอวกาศที่ไทยมีสิทธินั้นกินอาณาบริเวณประมาณ 18 ตารางกิโลเมตรซึ่งมากกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงขอฝากกลุ่มที่ปกป้องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรว่าอย่าลืมปกป้องพื้นที่อวกาศซึ่งเป็นตำแหน่งของวงโคจรสถิตของไทยด้วย ในเรื่องของการอายัดอากาศยานและสิทธิในวงโคจรสถิตนั้นขอให้ติดตามอ่านจากผู้รู้ในนิติราษฎรเร็วๆนี้

ยิ่งกว่านั้น ยังไม่นับปัญหาการเสียชีวิตของนักข่าวชาวญี่ปุ่นและชาวอิตาลีที่เสียชีวิตขณะกำลังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวในช่วงที่มีการประท้วงทางการเมือง ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักข่าวทั้งสองที่ชัดเจนแน่นอนได้ แต่ก็มีคำกล่าวที่ว่า “Justice delayed is justice denied” คำอธิบายที่สมเหตุสมผลเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นและอิตาลีกำลังรอคอยจากรัฐบาลชุดใหม่

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่อาจต้องประสบแรงกดดันจากกลุ่มเสื้อแดงในเรื่องของการให้ความยุติธรรมกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ โดยขณะนี้แรงกดดันได้พุ่งใส่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว และหากรัฐบาลใหม่รวมทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือคณะกรรมการชุดอื่นๆก็ตามไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ก็อาจเจอแรงกดดันเรื่องการเข้าเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) อีก
-III-
ปัญหาด้านการต่างประเทศที่กำลังรุมเร้าประเทศไทยอยู่ในขณะนี้นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลชุดใหม่โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและทีมงาน ที่จะต้องอาศัยทั้งศาสตร์ด้านการทูตรวมเข้ากับความเข้าใจหลักกฎหมายระหว่างประเทศในการดำเนินวิเทโศบายเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติไปพร้อมๆกับรักษามิตรไมตรีเพื่อนบ้าน และความน่าเชื่อถือต่อประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งการให้ข้อเท็จจริงและความรู้แก่ประชาชนอย่างถูกต้องด้วยเพื่อป้องกันมิให้เกิดประเด็นทางการเมืองขึ้นมา.

ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ผู้สนใจโปรดอ่านได้ที่ บทความ Provisional Measures in the Practices of the International Court of Justice

นิติราษฎรฺ์ นิติศาสตร์เพื่่อราษฎร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น