"กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข" สัมภาษณ์อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข ฉบับวันที่ 16-22 กรกฏาคม 2011 คอลัมน์ฟังจากปาก โดยอาจารย์ชาญวิทย์ได้มอบคำสัมภาษณ์ฉบับแก้ไขตัวสะกดวรรคตอนสำหรับประชาไทเผยแพร่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปรากฎการณ์ “ยิ่งลักษณ์” ฟีเวอร์
คนมักจะใช้คำว่า “กระแส” ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ ถล่มทลาย แต่ผมคิดว่าเผลอๆ ต้องใช้คำว่า “สึนามิ” เป็นสึนามิทางการเมือง ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทุกๆคน และในฐานะที่ผมสอนประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่มา 30-40 ปี ไม่เคยคิดไปถึงขนาดเมืองไทยจะสามารถมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงได้ เพราะเราก็เชื่อกันแบบเก่าๆ ในเรื่องของช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลัง และในเรื่องของชายชาติทหาร ชายชาตรีอะไรทำนองนั้น เราไม่ค่อยจะเชื่อในศักยภาพของผู้หญิงเท่าไร อันนี้ เป็นสิ่งที่ตัวผมเอง รู้สึกประหลาดใจมากๆ
แต่เอาเข้าจริง ก็อาจเป็นเพราะเรามองข้ามบทบาทของสตรี มองข้ามวิชาประวัติศาสตร์ไปก็ได้ เพราะว่า เอาเข้าจริงแล้ว เวลาสังคมไหนก็ตาม มีวิกฤต ผู้ที่ออกมาเป็นผู้นำสังคมได้เป็นอย่างดี และสามารถพาสังคมฝ่าข้ามไปได้หลายครั้ง เป็นผู้หญิง และผมก็คิดว่า ยิ่งโลกปัจจุบันนี้ ไม่ต้องพูด ผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็หลายประเทศ เกือบ 20 ประเทศ ยกตัวอย่างกรณีของวิกฤตอันรุนแรง ในฟิลิปปินส์ มันก็จบลงด้วยการที่คอรี่ อาคีโนขึ้นมา และผู้หญิงโดยมาก มาก็มาด้วยความเป็นภริยา ก็เลยได้มา หรือเป็นลูกสาว ก็ได้มา
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี มองในแวดวงอาเซียนของเรา ด้วยความที่เป็นลูกสาวประธานาธิปดีซูการ์โน ก็เลยขึ้นมา แต่กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นน้องสาว ตรงนี้ เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมากๆ แล้วมันกลับไปยังประเด็นของเวลา ที่สังคมมีปัญหา มีวิกฤต ถึงทางตัน บางครั้ง ผู้หญิงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ชาย ถ้าเราดูอย่างกรณีของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษเมื่อเป็นมหาอำนาจ คือ รัชสมัยของควีนส์อลิซาเบธที่ 1 และขึ้นสูงสุดในช่วงที่เป็นจ้าวโลก ก็ในสมัยของควีนส์วิคเตอเรีย หรือกรณีของอเมริกา ผมก็เชื่อว่าไม่นาน เขาจะต้องมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง
เมื่อผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศได้แล้ว ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป ผมว่าก้าวแรกสำคัญมาก ในส่วนของเมืองไทย ก็ถือว่าไปไกลพอสมควร และในอุษาคเนย์ หรือในกลุ่มอาเซียน ผมอยากจะเชื่อว่าประเทศไทยของเราเป็น ประเทศที่อาจจะ ถ้าพูดแบบเป็นคำชม ก็บอกว่ารักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ได้เป็นอย่างดีแต่ถ้าพูดลึกๆ อีกที ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่อนุรักษ์นิยมสูง หัวเก่ามากๆ ถึงแม้ดูโดยโฉมหน้าแล้วเราจะดูทันสมัย นำในแง่ของแฟชั่น เทคโนโลยีหลายอย่าง แต่ในความเป็นจริง ผมว่าเรายังอนุรักษ์และมีหลายอย่างที่ล้าหลังมาก
ดังนั้น เมื่อผู้หญิงขึ้นมาในระดับการเป็นผู้นำ เราก็ตามเขา เราไม่ได้นำเขา เพราะว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย เขาไปหมดแล้ว เราตามเขาด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย และผมเชื่อว่า จะทำอะไรๆ ดูมีความหวังมากขึ้น บางท่านที่พอคุ้นเคยกับคำสัมภาษณ์ของผมมาก่อน คงจะเห็นว่า ผมมองอะไรหลายอย่างในแง่ร้าย ผมมองว่าจะเป็นจลาจลมากกว่า ที่เป็นมา จะเป็นสงครามกลางเมือง จะเป็นกลียุค แต่พอมาถึงตรงนี้ ผมมีความรู้สึกว่า มันจะทำให้เราหยุดหายใจได้ อย่างน้อยก็ซัก 6 เดือน
จากนั้น ก็พยายามหาทางว่า เราจะออกจากทางตันตรงนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าความเป็นผู้หญิง ในเรื่องของเพศสภาวะ มันอาจจะมาเปลี่ยนบริบททางการเมืองของไทยมากมหาศาลเลย แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นน้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และปฏิเสธไม่ได้ว่าตรงนี้เป็นโลโก้ หรือแบรนด์ของพ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งต่อให้ถูกตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน คือ จะเปลี่ยนชื่อ แบรนด์ โลโก้ ก็ยังชนะอยู่ ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลต่อเนื่องมาจากพ.ต.ท.ทักษิณ
ถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นโคลนนิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่
ตอบว่า ใช่ก็ได้ เหมือนกับที่นายสมัคร สุนทรเวช หรือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า เป็นนอมินี แต่คำนั้น ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะใช้บ่อยๆ มันจืดก็เปลี่ยนมาเป็นโคลนนิ่ง แต่คำว่าโคลนนิ่ง คนก็บอกว่า ใช่ เพราะเป็นน้องสาว แต่ถ้าเราจะแฟร์กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ่งที่เราอาจตั้งคำถามว่า แน่นอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นน้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ มาด้วยแบรนด์ของพรรคเพื่อไทย แต่มันมีอะไรบางอย่าง ในความเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ใช้เวลาแค่ 6 สัปดาห์ ก็ก้าวขึ้นมาได้ขนาดนี้ ซึ่งมีมากกว่าเรื่องหน้าตาดี
สถานการณ์ของรัฐบาลชุดใหม่
ผมก็มองอย่างที่หลายๆ คนมอง ผมคิดว่าในแง่นี้ต้องใช้คำว่า เขาก็ต้องเกี๊ยเซี๊ยะกัน หมายความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย รวมทั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน จะเกี๊ยะเซี๊ยะอย่างไร กับฝ่ายตรงข้าม และสิ่งที่เราเรียกว่า อำนาจพิเศษ และจะเกี๊ยะเซี๊ยะอย่างไร กับสิ่งที่เราเรียกว่า สถาบันของชาวกรุงทั้งหลาย เพราะฝ่ายนี้ เขาเสนอตัวว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้าน เป็นตัวแทนของคนรากหญ้า และเป็นตัวแทนของคนนอกกรุงเทพฯ มากกว่า จึงต้องจับตาดูว่าเขาจะเกี๊ยะเซี๊ยะกันอย่างไร
ผมคาดว่า เขาคงเกี๊ยะเซียะกัน อาจจะเกี๊ยะเซี๊ยะกันในแง่ที่ว่า ไม่แตะต้องสถาบันทหาร ปล่อยให้ทหารดำเนินการไป อาจเกี๊ยะเซียะไปถึงขั้นที่ว่า อาจไม่ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ซึ่งอาจไปถึงขนาดนั้นก็ได้ หรืออาจผลักดันให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ของ ดร.คณิต ณ นครไป โดยผลักดันให้เรื่องไปถึงระดับที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ ดำเนินการไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศก็ได้ ในทางนี้ ก็อาจไม่ทำอะไรมากนัก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเกี๊ยะเซียะ
ผมยังคิดว่าเขาอาจเกี๊ยะเซียะกัน โดยฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงอาจจะต่อรอง เกี๊ยะเซียะว่า ไม่แก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ขอย้ำว่าวิธีการเกี๊ยะเซียะ คือการต่อรองกัน
อย่างล่าสุด ถ้าเราดูแล้ว นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขาก็สลายตัว และบอกว่า เขาจะเคลื่อนไหวเพียง 2 ประเด็น คือ เรื่องนิรโทษกรรม กับประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเสนอไว้ 2 ประเด็น แต่ต่อรองกันได้ ผมเชื่อว่าคนพวกนี้ต่อรองกัน หลายคนก็พยายามยืนยันว่า ตัวเองมีหลักการ แต่การเมืองจบลงด้วยการต่อรอง
คนแบบนายสนธิลิ้ม หรือคนแบบพ.ต.ท.ทักษิณ ในความที่เป็นพ่อค้าด้วย เขายิ่งจะต่อรอง ส่วนฝ่ายที่อาจเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า อำมาตย์ ทหาร สถาบันอะไร อาจจะไม่ต่อรองเท่าไรนัก ยกเว้นว่า ไม่สามารถจะฝืนกระแสได้ อย่างตอนนี้ ถ้าคุณอยากจะทำรัฐประหาร คุณก็จะฝืนกระแสไม่ได้ เพราะสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ผมคิดว่าใน 6 เดือน 1 ปี เขาก็คงต่อรองกัน เพราะวิธีการถ้าเราดูจากการแสดงท่าที การสัมภาษณ์อะไรก็ตาม แต่ละฝ่ายก็พยายามเผยท่าทีว่า ตรงนี้ต่อรองได้ นายสนธิลิ้มออกมาบอกว่าเหลือ 2 ประเด็นส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้คำคมว่า ถ้าเป็นตัวปัญหา ก็ยังไม่กลับประเทศไทย หรือรอก็ได้ อะไรทำนองนี้ ผมเชื่อว่าเป็นการต่อรองกัน
แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า ข้อเท็จจริง มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะในที่สุดแล้วสังคมก็ต้องปรองดองกัน ต้องให้อภัย และอโหสิซึ่งกันและกัน แต่ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่า เรื่องคดีความ มันก็ควรจะดำเนินไปถึงบั้นปลายของมัน คดีความของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกพิพากษา 2 ปี มันก็น่าดำเนินต่อไป เพราะยังมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็จะเดินไปตามกระบวนการของกฎหมาย ผมคิดว่า ถ้าชิงนิรโทษกรรม แปลว่าเขาก็จะต้องต่อรองว่า นิรโทษกรรมอะไร
ที่สำคัญ นิรโทษกรรมทุกเรื่อง ใช่หรือไม่ เวลาที่จะนิรโทษกรรม เผลอๆ มีการนิรโทษกรรมทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกล่าวหา ที่ว่าเผาบ้านเผาเมือง หรือเผาห้างสรรพสินค้า จะเป็นเรื่องยึดสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ ก็กลายเป็นว่า ถ้าจะนิรโทษกรรม ต้องนิรโทษกรรมหมดน่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่าสังคมไทยก็จะไม่มีบทเรียน ถ้าเผื่อให้กฎหมายผ่านได้ มันจะต้องทำให้เกิดความราบรื่น
ดังนั้น ถ้าจะนิรโทษกรรม มันก็จะจบลงว่าเจ๊าหมด สังคมนี้ ก็จะไม่มีบทเรียน แต่ว่ามันต้องเอาความจริงขึ้นมาให้ปรากฎ แล้วถึงจะมาทำการให้อภัยกัน ไม่เช่นนั้น สังคมจะไม่มีบทเรียน
บทบาทกองทัพไว้ใจได้หรือไม่
ผู้นำของกองทัพ ก็มักจะบอกว่า เขาจะไม่รัฐประหารแน่ๆ ไม่ยึดอำนาจแน่ๆ แต่ก็ยึดทุกครั้งไป เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งบทเรียนทางประวัติศาสตร์ บอกว่า ในที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่ทหาร เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากมหาศาล ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เราอาจจะไม่ไปไกลจนถึง กบฎรศ.130 เราไม่ไปไกลถึงการปฏิวัติ 2475 แต่เอาใกล้ๆตัว เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 แล้วถอยกลับไปอีก ก็มี รสช. 2534 – 2535 ถอยกลับไปอีกเมษาฮาวายก็ดี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ถอยกลับไปอีกรัฐประหาร 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ปี 2491 จี้นายควง อภัยวงศ์ออก
เหตุการณ์ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประวัติศาสตร์ ที่บันทึกว่าทหารเข้ามายึดอำนาจอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถามว่า มันจะหมดไปแล้วหรือ ผมคิดว่า ก็คงยังไม่หมด แต่ตอนนี้ ทำยาก เพราะกระแสมันแรงมาก แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา มองให้ลึกๆ มันเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี มันไม่ได้เลือกพรรคอย่างแท้จริง ผมว่าเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าจะเอาน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือเอานายอภิสิทธิ์ แล้วมองลึกๆอีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นการลงประชามติ โดยที่ไม่ได้เรียกว่าประชามติ คือลงประชามติว่าเอาทักษิณ หรือไม่เอาทักษิณ
อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า ในฐานะที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา สนใจเรื่องปราสาทเขาพระวิหารเป็นพิเศษ ที่ผมทำวิจัยให้กระทรวงการต่างประเทศ ผมคิดว่า การเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.เป็นการลงประชามติว่า ไม่ต้องการให้เอากรณีปราสาทเขาพระวิหาร มาเล่นการเมือง ที่อ้างเรื่องการรักชาติ อ้างเรื่องการเสียดินแดน เพราะเห็นจากคะแนนโหวต ผมคิดว่าประชาชนชาวศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์และบางส่วนของประชาชน จ.บุรีรัมย์ ที่มีความใกล้ชิดแนบแน่นกับทางกัมพูชา เขาไม่เอานโยบายปลุกผีเขาพระวิหาร ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่บอกคือ นายสุวิทย์ต้องหนี ไม่ลงสมัคร ส.ส.ในแถบอีสาน บ้านเกิดของตัวเอง ลง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แล้วก็ไม่ได้ ผมคิดว่าอันนี้ เป็นประชามติ แต่ว่านายสุวิทย์ ก็เหมือนนักการเมืองหัวเก่า หัวอนุรักษ์นิยมบางกลุ่ม ที่ยังเชื่อเหมือนๆ กับทหารบางกลุ่ม ที่ยังเชื่อมายาคติที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทิ้งเอาไว้ว่า สักวันหนึ่งจะไปเอาปราสาทเขาพระวิหาร กลับมาเป็นของชาติไทย แล้วยังเชื่อเหมือนกับวาทกรรมของอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่บอกว่า เราไม่รับแผนที่ เรารับสันบันน้ำ ก็ยังเชื่ออย่างนี้
เพราะฉะนั้น ก็ยังเชื่อว่า เราเสียดินแดนไป ทั้งๆที่เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ใช่ดินแดนของเรา มันเป็นดินแดนของเขา แย่งกันไปแย่งกันมา เราแย่งไม่ได้ มันต้องมองอย่างนี้ แล้วมันต้องจบ นี่เป็นความหลงผิด ประวัติศาสตร์แบบผิดๆ ที่ถูกสร้างเอาไว้โดยฝ่ายหนึ่ง คือ จอมพลสฤษดิ์ ทิ้งเอาไว้ และอีกฝ่ายหนึ่งทิ้งเอาไว้ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ มันก็ทิ้งเอาไว้ในกลุ่มคน ที่มีความคิดแบบเก่า ในกลุ่มของทหารบางกลุ่ม ในกลุ่มของนักการเมืองบางกลุ่ม อย่างที่เราเห็น คือ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ก็ไม่มีทาง ก็จะต้องทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ และเวลาทะเลาะแล้ว ถ้าพูดจริงๆ ไทยเราก็กลายเป็นฝ่ายถูกรุก
ในแง่ของการทูต เราถือว่าเสียมากเลย เราบอกว่าทวิภาคี คือ 2 ฝ่าย คือ ไทยกับกัมพูชา เรื่องมันเดินไปจนถึงอาเซียน ถึงศาลโลก และเรื่องมันเดินไปถึงคณะกรรมการมรดกโลก รวมถึงองค์กรสหประชาชาติหรือยูเอ็น แสดงว่า ในแง่เรื่องนโยบายต่างประเทศเราล้มเหลว คือ ที่เราบอกว่า 2 ฝ่าย ขณะนี้มันเป็นร้อยฝ่ายไปแล้ว ซึ่งเราจะเป็น “แกะดำ” หนึ่งเดียวในโลกนี้ ผมเชื่อว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลไทยชุดใหม่ทำ ในแง่นโยบายต่างประเทศ ต้องได้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีฐานะ และความสามารถ ที่จะยืนอยู่บนเวทีระหว่าง ประเทศได้ ไม่ใช่อยู่ในฐานะเล่นเกมท้องถิ่น
รัฐมนตรี ต่างประเทศ ควรจะต้องเป็นตัวแทนของเรื่องนี้ใน เวทีระหว่างประเทศ คือ ไม่ใช่ไปนั่งแอบๆอยู่ที่ศาลโลก มันไม่ได้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ต้องออกไปอยู่ข้างหน้า และทำนโยบายต่างประเทศเชิงรุก แล้ว เป็นเกียรติเป็นศรี ไม่ใช่ทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่เกเร หรือตลกร้ายในเวทีระหว่างประเทศ สิ่งแรกที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องทำ คือ หาคนที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ที่อยู่ในระดับอินเตอร์ และต้องยืนยันว่า ผลประโยชน์ของประเทศ หน้าตาของประเทศ อยู่กับยูเนสโก ไม่ใช่เดินออกจากยูเนสโก รัฐบาลต้องนำไทยกลับเข้าสู่คณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้ง เพราะจะเป็นการนำไทยไปสู่ความศิวิไลย์
เกรงจะถูกจุดกระแสต่อต้านรัฐ
ถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำไทยกลับเข้าสู่คณะกรรมการมรดกโลก อีกครั้ง จะถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรฯ หรือแม้กระทั่งกองทัพ ใช้เป็นประเด็นจุดกระแสต่อต้านทางการเมือง
ผมคิดว่า มันบอกได้ว่า การจุดประเด็นรักชาติ รักเขาพระวิหาร มันจุดติดเมื่อปี 2551 เพราะเป้าหมาย คือ การล้มรัฐบาลนายสมัคร กับนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งตอนนั้น บอกว่าเป็นนอมินี ของพ.ต.ท.ทักษิณ มันจุดติด แต่พอมาล่าสุด การนำประเด็นเขาพระวิหารมาเล่นใหม่ ตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว
จนกระทั่งมีการสู้รบกันในเดือน ก.พ.และมีการสู้รบกันต่อในเดือน เม.ย.มีคนตายไป 20-30 คน แต่มันจุดไม่ติด มันไปไกลจนกระทั่งถึงนายวีระ สมความคิด ถูกจับ และปัจจุบันก็อยู่ในคุกที่กรุงพนมเปญ มันไปไกลถึงขนาดว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ถูกจับและถูกปล่อยมาแล้ว มาลงเลือกตั้งครั้งนี้ ก็สอบตก มันแปลว่า ประชาชนได้ส่งเสียงสวรรค์ บอกว่า ไม่เล่นประเด็นนี้
ดังนั้น การที่จะไปนำกลับมา ก็คงนำกลับมาได้ แต่จะจุดติดหรือไม่ติด เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า แต่ปรากฎว่า ประชาชนไม่ได้มองเรื่องการเมืองแบบเก่า แต่มองการเมืองแบบใหม่ ที่ต้องการ สันติภาพ
ห่วงรัฐบาลใหม่อะไรมากที่สุด
ผมยังเป็นห่วงเรื่องการทำรัฐประหาร สิ่งนี้ไม่น่าจะหมดไปง่ายๆ แต่ตอนนี้ผมว่า เขาคงมีการเกี๊ยะเซี๊ยะกัน ในระดับหนึ่ง พลังพิเศษ พลังนอกรัฐธรรมนูญ อาจรอดูกระแสก่อน มันก็มีสัญญาณอะไรที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะการยึดอำนาจอาจไม่ใช่การยึดอำนาจโดยทหาร ใช้รถถัง ใช้ปืนก็ได้ ในอดีต ก็มีการยึดอำนาจโดยการปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา การเล่นใช้อำนาจทางศาล ก็มีมาแล้วที่เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งก็มีสิทธิ์ ในเรื่องกรณีที่นายแก้วสรร อติโพธิ แกนนำเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) ที่ยื่นเอาไว้ก็มีอยู่
การเมืองไทยจะนิ่งหรือไม่ ผมคงพูดไม่ได้ มันคงอาจจะชั่วคราว หยุดถอนหายใจ หยุดตั้งสติ แล้วเดินกันใหม่ แต่ว่ามันก็วางใจไม่ได้ ผมคิดว่าในส่วนที่นอกเหนือจากขั้วของนักการเมือง ขั้วของพรรค ในแง่ของผม ในฐานะเป็นนักวิชาการ เราก็คงติดตาม ศึกษามาเผยแพร่ความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับการเมืองต่อไป มันต้องหลายๆส่วน ที่จะต้องช่วยกันผลักดัน ส่วนเรื่องอนาคตของประเทศไทย หลังจากนี้ ต้องยอมรับว่าพูดยาก อย่างที่ผมบอกที่ผ่านมาทำให้เรามีทัศนคติในแง่ร้าย แต่ตอนนี้ อาจมีสัญญาณบางอย่าง การเมืองมันเปลี่ยน ดังนั้น ในระดับหนึ่ง คนที่เป็นคนชั้นนำ จะเกี๊ยะเซี๊ยะกัน
ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ คุณก็อยู่ในระดับของคนชั้นนำของประเทศ คุณไม่ใช่คนระดับกลาง ล่าง หรือรากหญ้า ถึงแม้ว่าคุณจะพูดแทนคนรากหญ้า คุณก็ไม่ใช่ คุณก็มีแนวโน้มที่จะเกี๊ยะ เซี๊ยะกัน แต่การเกี๊ยะเซี๊ยะกันข้างบนนี้ จะใช้ได้หรือไม่ สำหรับสังคมโดยรวม และเป็นที่ยอมรับของคนข้างล่างได้หรือไม่ เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไป และไปไกลมากแล้ว มีคนใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา ที่คิดไม่เหมือนกับคนอายุ 60 – 70 คิดต่อไปแล้ว เป็นคนที่วิ่งระหว่างเมือง กับชนบท ขอเตือนว่า ถ้าข้างบน ชนชั้นนำเกี๊ยะเซี๊ยะกัน โดยมองข้ามหัวคนเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเขาคงไม่ยอมอย่างแน่นอน
ข่าวประชาไท