1 สิงหาคม 2554

ความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ กับ “ปัญหา ม.112"

นักปรัชญาชายขอบ
ผมรู้สึกยินดีที่ได้ดูรายการ Intelligence ทาง Voice TV ดำเนินรายการโดย คุณจอม เพชรประดับ สนทนาเรื่อง“สิทธิ เสรีภาพ จักต้องไม่ถูกละเมิด”สืบเนื่องจาก คำประกาศ 359 นักเขียน  “สิทธิ เสรีภาพ จักต้องไม่ถูกละเมิดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจักต้องไม่ถูกขู่เข็ญ ด้วยข้อกล่าวหาไม่จงรักภักดี”โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือ คุณวิภา ดาวมณี กิตติพล สรัคคานนท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และวาด รวี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผมมองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวต่อยอดจากการเคลื่อนไหวของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคณะนิติราษฎร์ ที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่งเพราะเป็นการช่วยกันทำให้ประเด็น “ปัญหา ม.112”ถูกอธิปรายถกเถียงใน “พื้นที่สาธารณะ” กว้างมากขึ้น
สำหรับรายการ Intelligence, Voice TV และสื่ออย่าง “คุณจอม เพชรประดับ” ก็สมควรปรบมือให้กับ “ความกล้าหาญทางจริยธรรม”ที่เข้ามาจับ “ประเด็นละเอียดอ่อน” นี้
เพราะเป็นที่รู้กันว่าสื่อในบ้านเรานั้นสนใจทำเรื่องของ “ตัวเงินตัวทองร่วมรักกันในบริเวณรัฐสภา”ให้เป็น “ข่าวหน้า 1” และเอาจริงเอาจังกับการใช้ “บทรักของตัวเงินตัวทอง”เป็น “ฐานคิด” ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองตลอดมา
แต่หลีกเลี่ยงที่จะทำให้ปัญหาระดับรากฐานจริงๆ เช่น ปัญหา ม.112 เป็น “ข่าวหน้า 1” หรือเป็นประเด็นที่ควรนำเสนอการอภิปรายถกเถียงสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง!


ในขณะที่สื่อของรัฐ สื่อเสื้อเหลือง และสื่อกระแสหลักส่วนหนึ่งเสนอข่าวและความคิดเห็นตลอดมาว่าฝ่ายที่เสนอให้อภิปรายประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสนอให้แก้ไขม.112 คือ ฝ่ายที่มีเจตนาทำลายสถาบัน และต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มีสื่อในวงแคบเท่านั้นที่นำเสนอ “เหตุผล” ว่าทำไมสังคมไทยจึงควรอภิปรายประเด็นสถาบัน และควรแก้ไข ม.112

นี่จึงเป็นภาพสะท้อนปัญหา “ความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ” อย่าน่าเป็นห่วง!

ความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ หมายถึงความกล้าหาญที่จะนำเสนอความจริง และต่อสู้เพื่อให้เกิดความถูกต้อง แต่ ม.112  ที่

1) ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบัน

2) มีการพิจารณาคดีแบบปิดลับ เป็นการปิดกั้นสิทธิที่จะรับรู้ความจริงของประชาชน

3) ไม่ให้ประกันตัวและมีบทลงโทษหนักเกินเหตุ เป็นการทำลายสิทธิมนุษยชน

4) ใครจะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ และจึงทำให้เกิด

5)ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง มากกว่าใช้ปกป้องสถาบัน

ฉะนั้น จึงเป็นกฎหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือหลักเสรีภาพ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเพราะปิดกั้นสิทธิที่จะรับรู้และพูดความจริง มีบทลงโทษที่รุนแรง และถูกซ้ำเติมด้วย
“ตราบาป” ทางสังคมอันเกิดจากค่านิยมที่ถูกปลูกฝังโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยตาม “อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” ที่ขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน

เมื่อไม่มีเสรีภาพในการพูด สังคมก็ไม่อาจแลกเปลี่ยนเรียนรู้วินิจฉัย หรือมีความเห็นร่วมกันได้ว่า อะไรคือความจริง ความเท็จ อะไรคือถูก อะไรคือผิด

ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพเช่นนี้เราไม่อาจเรียกว่าเป็น “สังคมประชาธิปไตย” ได้
การที่สื่อไม่ได้จริงจังกับการนำเสนอ “ความจริง” ของปัญหา ม.112 เช่นติดตามข้อมูลและการเคลื่อนไหวของคนที่ถูกดำเนินการด้วยกฎหมายนี้ในระยะกว่า 5 ปี มานี้ว่า มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่าไร สาเหตุที่ถูกดำเนินคดีเพราะเขาไปทำอะไร ทำไมเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น การประกันตัว ชะตากรรมในคุกของเขาเป็นอย่างไร ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร ฯลฯ และไม่ได้สนใจเสนอประเด็นการอภิปราย ข้อเรียกร้อง และเหตุผลเชิงลึกต่างๆของฝ่ายเรียกร้องให้แก้ ม.112 อย่างละเอียดทุกแง่มุมและต่อเนื่อง สะท้อนว่าสื่อขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างชัดเจน
ในสังคมที่ดีมันควรจะมีความผิดเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันใดๆ ไหม ว่าประชาชนต้องถูกดำเนินคดีโดยห้ามประกันตัว ศาลพิจารณาคดีแบบปิดลับและมีบทลงโทษอย่างหนัก โดยที่สื่อและประชาชนในประเทศไม่ต้องสนใจใดๆเลยกับ “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับการกระทำ คำพูด และ/หรือสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีเช่นนั้น
การที่สื่อไม่ได้สนใจกับการตั้งคำถามทำนองนี้ มันก็เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่งเมื่อสื่อยังประกาศ “คำขวัญ” ที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” โดยที่พฤติกรรมของสื่อไม่แสดงให้เห็นว่าคุณ “อิน”กับความหมายของ “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” หรือความกล้าหาญในการนำเสนอความจริงและต่อสู้เพื่อให้เกิดความถูกต้อง
ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่ การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน
คุณบอกว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน” แต่คุณกลับสนใจใช้เสรีภาพนั้นเสนอเรื่องราว “การร่วมรักของตัวเงินตัวทอง” มากกว่า ขณะที่แทบไม่สนใจทำข่าว หรือร่วมอภิปรายถกเถียงในประเด็นสถาบันและการแก้ไข ม.112 ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนเลย

พูดถึงตรงนี้แล้วก็น่าเศร้าครับ ในยุคสมัยที่ “พลเมืองประชาธิปไตย” ตื่นขึ้นจำนวนมากสื่อไทยกลับมีท่าทีหวาดระแวง หรือไม่เชื่อมั่นต่อการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและไม่นำเสนอ “เนื้อหา” ของการตื่นตัวนั้นเท่ากับ “เนื้อหา” คำสัมภาษณ์ของผบ.ทบ.ด้วยซ้ำ
มันตลกไหมครับที่เรารับรู้เรื่องราวของ “หมู่บ้านแดง” ทั้งในชนบทและในเมืองจากการนำเสนอของสื่อต่างชาติ(แล้วสื่อไทยก็แปลมานำเสนอต่อ) เช่นเดียวกับที่เราได้เห็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนในการสลายการชุมนุมจากสื่อต่างชาติ มากกว่าจากสื่อไทย
และแน่นอนว่า ประเด็นปัญหา ม.112 ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็คงจะเป็นที่สนใจและถูกนำเสนอโดยสื่อต่างชาติมากกว่า แล้วเรายังจะมีความหวังอะไรกับสื่อไทย ในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยอีกเล่า!
ข่าวประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น