23 มกราคม 2555

มาตรา 112: การต่อสู้ระหว่างตรรกะกับอตรรกะ




ผมขอเรียกวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวัน “นิติราษฎร์” ก็แล้วกัน แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงาน แต่ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้ทั้งอ่านและฟังคำอธิบายของกลุ่มนิติราษฎร์ที่มีเหตุผลและมีวุฒิภาวะ เรียกได้ว่า ผมรู้สึก “ตาสว่าง” อีกรอบ กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุที่กฏหมายฉบับนี้ มีลักษณะที่เป็น“อประชาธิปไตย” อยู่มาก มิหนำซ้ำ ตัวบทกฏหมายเองยังเปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้อย่างผิดๆ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคลั่งเจ้า ประเด็นนี้ผมได้กล่าวถึงหลายครั้ง และจะไม่ขอนำกลับมาพูดอีก เพราะถ้าพูดอีด กลุ่มต่อต้านการเคลื่อนไหวที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็คงไม่ฟังเหมือนเคย พูดไปก็เปลืองน้ำลาย ถ่มลงพื้นอาจจะยังมีประโยชน์มากกว่า





สิ่งที่นิติราษฏร์ได้ริเริ่มขึ้น ผมถือว่าเป็นการก้าวข้ามความกลัวที่ยิ่งใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น a grand stepจากนี้ไป ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ มาตรา 112 จะยังคงหลอกหลอนเราอยู่หรือไม่ และจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยอีกเพียงใด ผมเห็นว่า นิติราษฏร์ได้บรรลุภารกิจไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เห็นว่าเป็นความสำเร็จชัดๆ คือการเคลื่อนให้ประเด็นแก้ไขมาตรา 112กลายมาเป็นญัตติแห่งชาติ นิติราษฏร์ได้พังกำแพงแห่งประเด็นต้องห้าม (taboo) และเบิกทางให้มีการถกเถียงและอภิปรายกรณีกฏหมายมาตรา 112 อย่างกว้างขวางและมีเหตุผล ความสำเร็จในการแก้ไขมาตรานี้เป็นครึ่งที่เหลือที่รอเราอยู่ และผมเชื่อว่า ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ไป กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาใช้มาตรการข่มขู่ให้เกิดความกลัวมากขึ้น มีการไล่คนออกนอกประเทศมากขึ้น ผมขอทำนายว่า กรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดมาตรา 112 ก็จะเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การจับกุมผู้ไม่เห็นด้วยมากขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ Genie ได้ออกมาจากขวดแล้ว คงเรียกกลับลำบาก









บทความนี้ไม่ต้องการที่จะย้ำในประเด็นเดิมๆ กล่าวคือ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความเชื่อของคนสองกลุ่มในประเด็น 112 นำไปสู่การเผชิญหน้ากันที่มี “อิสรภาพ” เป็นเครื่องเดิมพัน แต่ที่ผมขอย้ำในบทความนี้ก็คือ ผมเห็นว่า การต่อสู้ในเรื่องมาตรา 112 เอาเข้าจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างเหตุผลกับความไร้เหตุผล หรือ ตรรกะกับความอตรรกะ ผมบอกได้เลย (และปราศจากอคติ) ว่า ผมสนับสนุนกลุ่มนิติราษฏร์เพราะอุดมการณ์และข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล (ที่ต้องการเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แบบที่กลุ่มคลั่งเจ้าหลอกตัวเองไปวันๆ ดัดจริต define ประเทศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในก็เป็นเผด็จการดีๆ นี่เอง) การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ของนิติราษฏร์ (ด้วยหลักของเหตุผล) จึงไม่มีวันแพ้ แม้ชัยชนะอาจจะไม่เกิดขึ้นภายในวันพรุ่งนี้ แต่ความหวังของการต่อสู้ยังมีอยู่มาก

นับตั้งแต่ที่มีการรณรงค์เพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112รวมถึงในช่วงเวลาที่ผมได้มีโอกาสจัดการรณรงค์ที่ให้มีการปล่อยตัว “อากง” ผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112นี้เช่นกันนั้น ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยได้ใช้ตรรกะในการลบล้างข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์และของโครงการอากงของผมเองได้ ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายตรงข้ามมีมากครับ มีเกือบทุกวัน อ่านกันในหนังสือพิมพ์และใน Facebook กับจนตาลาย แต่อ่านแล้ว ผมยังไม่พบแสงสว่างที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการชี้นำสังคมในประเด็นเรื่อง 112 สิ่งที่ผมพบคือความโง่เขลา (บางรายแกล้งโง่) ความไร้เดียงสา (แกล้งไร้เดียงสา) ความขมขื่น (bitterness) ความละเลยเพิกเฉย และความกระเหี้ยนกระหือรือในการปกป้องความคิดแบบเก่า อุดมการณ์แบบเก่า โดยไม่คำนึงว่าสังคมไทยเคลื่อนตัวไปข้างหน้ารวดเร็วมากเพียงใดแล้ว

กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มคลั่งเจ้า เรียงหน้ากับออกมาแสดงความ “อตรรกะ” ของตนเองต่อสาธารณชนเพื่อปกป้องมาตรา 112 ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ได้ออกมาเหน็บแนมกลุ่มนิติราษฏร์ว่าเป็นนักวิชาการสมองเปิด (ต่างกับท่านที่มีสมองแบบ “ตีบ” หรือ?) พร้อมทั้งขู่เข็นไล่ให้นิติราษฏร์และผู้สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 อพยพไปอยู่ต่างประเทศ ผมได้ตอบโต้ท่าน ผบ.ทบ.ไปแล้วในหลายโอกาส แต่ไม่ทราบว่าท่านจะได้ยินหรือไม่ อาจจะไม่ เพราะการที่มีอาการสมองตีบอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของแก้วหู ถึงกระนั้น จุดที่ผมขอเน้นก็คือ ท่าน ผบ.ทบ.ไม่เคยให้เหตุผลว่าทำไมไม่สมควรให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ผมขอให้ท่านเลิกพูดเสียทีว่า ท่านต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์แบบลอยๆ เพราะนิติราษฏร์ได้ระบุไว้อย่างขัดเจนว่า การแก้ไขมาตรา 112 นั่นเองที่จะเป็นหัวใจนำไปสู่การปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง และในความเป็นจริง พลเอกประยุทธ์ ไม่สมควรแสดงความเห็นทางการเมืองด้วยซ้ำ หากมองไปในหลายๆ ประเทศ ผู้นำกองทัพมีความเป็นมืออาชีพสูงและหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่ในประเทศไทยนี้ ผบ.ทบ.กลับทำตัวเสมือนนายกรัฐมนตรี

หรือกรณีที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ใช้วาจาค่อนแคะกลุ่มนิติราษฏร์ว่าไม่มีงานทำ มัวแต่มาจ้องแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ให้เหตุผลของการคัดค้านกลุ่มนิติราษฏร์ จริงๆ ผมก็ทราบเหตุผลของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บ้างเหมือนกัน คุณเฉลิมก็น่าจะออกมายอมรับตรงๆ ว่า ได้เกี๊ยะเซี๊ยะกับ “ท่านผู้ใหญ่” ไว้แล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่แตะกฏหมาย 112

ส่วนที่เหลือ ก็พยายามใช้วาทกรรมเดิมๆ ในการลดความน่าเชื่อถือกลุ่มนิติราษฏร์และความพยายามแก้ไขมาตรา 112 มีตั้งแต่การด่าทอว่านิติราษฏร์ไม่ใช่คนไทย ไม่รักพ่อ ไม่มีความเป็นไทย (ก็คงจะไม่มีจริงๆ แหละครับ เพราะความเป็นไทยคือความดัดจริตนั่นเอง) เป็นทาสรับใช้คุณทักษิณ ถูกจ้างโดยคุณทักษิณ (ถ้ามีการจ้างกันจริงๆ ผมและนิติราษฏร์คงรวยกันไปแล้ว) เป็นทาสฝรั่ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ ไม่สำนึกบุญคุณแผ่นดิน ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ทรงรักษาเอกราชของไทยเพื่อให้ลูกหลานได้มีเสรีภาพเยี่ยงทุกวันนี้ (อิสรเสรีภาพ?) ไปจนถึงถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายสถาบันและล้มเจ้า ในบรรดาคำกล่าวหาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถหาเหตุผลมาให้การสนับสนุนได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน แต่นี่เป็นยุทธวิธีหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามครับ ที่แสดงว่า การชี้หน้าว่าใครเป็นศัตรูต่อประเทศ ต่อสถาบัน ทำกันอย่างง่ายๆ ชัดๆ ไม่อ้อมค้อม แต่การหาเหตุผลมาสนับสนุนการชี้หน้านี้กลับเป็นวิธีที่อึมครึม ขาดความโปร่งใส และมีความคดเคี้ยวอย่างยิ่ง

การต่อสู้กับกลุ่มที่ขาดความเคารพต่อเหตุผลเป็นเหมือนการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายมักไม่ใช้เหตุผลในการกระทำการณ์หนึ่งๆ นอกไปจากความต้องการเห็นฝ่ายตรงข้ามต้องเจ็บปวดและพ่ายแพ้ นอกจากนี้ เราไม่อาจคาดหวัง หรือเดาใจกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ฉันใด ฉันนั้นเราก็ไม่สามารถคาดหวังกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112ะ ว่าจะยินยอมรับฟังในเหตุผล การใช้มาตรา 112ลงโทษผู้คิดต่างทางการเมือง เช่นในกรณีคุณ Joe Gordon และอีกหลายๆ ท่านที่ยังถูกจองจำอยู่นั้น ก็เปรียบเสมือนการที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ใช้ความรุนแรงในการสังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก สำหรับผม การถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ก็ไม่ต่างจากการต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์การก่อการร้าย อิสรภาพคือชีวิต ไร้ซึ่งอิสรภาพก็เปรียบเช่นเดียวกับการไร้ชีวิตนั่นเอง

และในความเป็นจริง การเรียกกลุ่มคลั่งเจ้าที่ไร้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะสิ่งที่กลุ่มคลั่งเจ้ากำลังทำอยู่ (ใช้มาตรา 112เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง) ก็เท่ากับได้ก่อการร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งใช้สถาบันเป็น “ตัวประกัน” ทางการเมืองมากเท่าไร พวกคุณก็ทำร้ายสถาบันมากเท่านั้น

การต่อสู้ของนิติราษฏร์กับ “อตรรกะ” คงไม่ยุติโดยเร็ว การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นทั้งทางการเมืองและในส่วนของสถาบันกษัตริย์เองนั้น อาจจะส่งผลให้ “อตรรกะ” กลายมาเป็นแม่แบบแห่งอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ และถูกนำไปใช้การฟาดฟันกับตรรกะ อิสระ เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ เราจะข้ามพ้นการต่อสู้นี้ไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของสังคมไทยโดยรวม และความพร้อมที่จะเปิดใจรับกับเหตุผลในการอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองของเราอย่างตรงไปตรงมา

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ http://www.voicetv.co.th/blog/697.html 



16 มกราคม 2555 เวลา 19:05 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น