23 มกราคม 2555

มาตรา 112: การต่อสู้ระหว่างตรรกะกับอตรรกะ




ผมขอเรียกวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวัน “นิติราษฎร์” ก็แล้วกัน แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงาน แต่ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้ทั้งอ่านและฟังคำอธิบายของกลุ่มนิติราษฎร์ที่มีเหตุผลและมีวุฒิภาวะ เรียกได้ว่า ผมรู้สึก “ตาสว่าง” อีกรอบ กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุที่กฏหมายฉบับนี้ มีลักษณะที่เป็น“อประชาธิปไตย” อยู่มาก มิหนำซ้ำ ตัวบทกฏหมายเองยังเปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้อย่างผิดๆ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคลั่งเจ้า ประเด็นนี้ผมได้กล่าวถึงหลายครั้ง และจะไม่ขอนำกลับมาพูดอีก เพราะถ้าพูดอีด กลุ่มต่อต้านการเคลื่อนไหวที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็คงไม่ฟังเหมือนเคย พูดไปก็เปลืองน้ำลาย ถ่มลงพื้นอาจจะยังมีประโยชน์มากกว่า





สิ่งที่นิติราษฏร์ได้ริเริ่มขึ้น ผมถือว่าเป็นการก้าวข้ามความกลัวที่ยิ่งใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น a grand stepจากนี้ไป ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ มาตรา 112 จะยังคงหลอกหลอนเราอยู่หรือไม่ และจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยอีกเพียงใด ผมเห็นว่า นิติราษฏร์ได้บรรลุภารกิจไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เห็นว่าเป็นความสำเร็จชัดๆ คือการเคลื่อนให้ประเด็นแก้ไขมาตรา 112กลายมาเป็นญัตติแห่งชาติ นิติราษฏร์ได้พังกำแพงแห่งประเด็นต้องห้าม (taboo) และเบิกทางให้มีการถกเถียงและอภิปรายกรณีกฏหมายมาตรา 112 อย่างกว้างขวางและมีเหตุผล ความสำเร็จในการแก้ไขมาตรานี้เป็นครึ่งที่เหลือที่รอเราอยู่ และผมเชื่อว่า ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ไป กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาใช้มาตรการข่มขู่ให้เกิดความกลัวมากขึ้น มีการไล่คนออกนอกประเทศมากขึ้น ผมขอทำนายว่า กรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดมาตรา 112 ก็จะเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การจับกุมผู้ไม่เห็นด้วยมากขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ Genie ได้ออกมาจากขวดแล้ว คงเรียกกลับลำบาก









บทความนี้ไม่ต้องการที่จะย้ำในประเด็นเดิมๆ กล่าวคือ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความเชื่อของคนสองกลุ่มในประเด็น 112 นำไปสู่การเผชิญหน้ากันที่มี “อิสรภาพ” เป็นเครื่องเดิมพัน แต่ที่ผมขอย้ำในบทความนี้ก็คือ ผมเห็นว่า การต่อสู้ในเรื่องมาตรา 112 เอาเข้าจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างเหตุผลกับความไร้เหตุผล หรือ ตรรกะกับความอตรรกะ ผมบอกได้เลย (และปราศจากอคติ) ว่า ผมสนับสนุนกลุ่มนิติราษฏร์เพราะอุดมการณ์และข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล (ที่ต้องการเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แบบที่กลุ่มคลั่งเจ้าหลอกตัวเองไปวันๆ ดัดจริต define ประเทศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในก็เป็นเผด็จการดีๆ นี่เอง) การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ของนิติราษฏร์ (ด้วยหลักของเหตุผล) จึงไม่มีวันแพ้ แม้ชัยชนะอาจจะไม่เกิดขึ้นภายในวันพรุ่งนี้ แต่ความหวังของการต่อสู้ยังมีอยู่มาก

นับตั้งแต่ที่มีการรณรงค์เพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112รวมถึงในช่วงเวลาที่ผมได้มีโอกาสจัดการรณรงค์ที่ให้มีการปล่อยตัว “อากง” ผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112นี้เช่นกันนั้น ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยได้ใช้ตรรกะในการลบล้างข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์และของโครงการอากงของผมเองได้ ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายตรงข้ามมีมากครับ มีเกือบทุกวัน อ่านกันในหนังสือพิมพ์และใน Facebook กับจนตาลาย แต่อ่านแล้ว ผมยังไม่พบแสงสว่างที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการชี้นำสังคมในประเด็นเรื่อง 112 สิ่งที่ผมพบคือความโง่เขลา (บางรายแกล้งโง่) ความไร้เดียงสา (แกล้งไร้เดียงสา) ความขมขื่น (bitterness) ความละเลยเพิกเฉย และความกระเหี้ยนกระหือรือในการปกป้องความคิดแบบเก่า อุดมการณ์แบบเก่า โดยไม่คำนึงว่าสังคมไทยเคลื่อนตัวไปข้างหน้ารวดเร็วมากเพียงใดแล้ว

กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มคลั่งเจ้า เรียงหน้ากับออกมาแสดงความ “อตรรกะ” ของตนเองต่อสาธารณชนเพื่อปกป้องมาตรา 112 ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ได้ออกมาเหน็บแนมกลุ่มนิติราษฏร์ว่าเป็นนักวิชาการสมองเปิด (ต่างกับท่านที่มีสมองแบบ “ตีบ” หรือ?) พร้อมทั้งขู่เข็นไล่ให้นิติราษฏร์และผู้สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 อพยพไปอยู่ต่างประเทศ ผมได้ตอบโต้ท่าน ผบ.ทบ.ไปแล้วในหลายโอกาส แต่ไม่ทราบว่าท่านจะได้ยินหรือไม่ อาจจะไม่ เพราะการที่มีอาการสมองตีบอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของแก้วหู ถึงกระนั้น จุดที่ผมขอเน้นก็คือ ท่าน ผบ.ทบ.ไม่เคยให้เหตุผลว่าทำไมไม่สมควรให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ผมขอให้ท่านเลิกพูดเสียทีว่า ท่านต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์แบบลอยๆ เพราะนิติราษฏร์ได้ระบุไว้อย่างขัดเจนว่า การแก้ไขมาตรา 112 นั่นเองที่จะเป็นหัวใจนำไปสู่การปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง และในความเป็นจริง พลเอกประยุทธ์ ไม่สมควรแสดงความเห็นทางการเมืองด้วยซ้ำ หากมองไปในหลายๆ ประเทศ ผู้นำกองทัพมีความเป็นมืออาชีพสูงและหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่ในประเทศไทยนี้ ผบ.ทบ.กลับทำตัวเสมือนนายกรัฐมนตรี

หรือกรณีที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ใช้วาจาค่อนแคะกลุ่มนิติราษฏร์ว่าไม่มีงานทำ มัวแต่มาจ้องแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ให้เหตุผลของการคัดค้านกลุ่มนิติราษฏร์ จริงๆ ผมก็ทราบเหตุผลของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บ้างเหมือนกัน คุณเฉลิมก็น่าจะออกมายอมรับตรงๆ ว่า ได้เกี๊ยะเซี๊ยะกับ “ท่านผู้ใหญ่” ไว้แล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่แตะกฏหมาย 112

ส่วนที่เหลือ ก็พยายามใช้วาทกรรมเดิมๆ ในการลดความน่าเชื่อถือกลุ่มนิติราษฏร์และความพยายามแก้ไขมาตรา 112 มีตั้งแต่การด่าทอว่านิติราษฏร์ไม่ใช่คนไทย ไม่รักพ่อ ไม่มีความเป็นไทย (ก็คงจะไม่มีจริงๆ แหละครับ เพราะความเป็นไทยคือความดัดจริตนั่นเอง) เป็นทาสรับใช้คุณทักษิณ ถูกจ้างโดยคุณทักษิณ (ถ้ามีการจ้างกันจริงๆ ผมและนิติราษฏร์คงรวยกันไปแล้ว) เป็นทาสฝรั่ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ ไม่สำนึกบุญคุณแผ่นดิน ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ทรงรักษาเอกราชของไทยเพื่อให้ลูกหลานได้มีเสรีภาพเยี่ยงทุกวันนี้ (อิสรเสรีภาพ?) ไปจนถึงถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายสถาบันและล้มเจ้า ในบรรดาคำกล่าวหาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถหาเหตุผลมาให้การสนับสนุนได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน แต่นี่เป็นยุทธวิธีหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามครับ ที่แสดงว่า การชี้หน้าว่าใครเป็นศัตรูต่อประเทศ ต่อสถาบัน ทำกันอย่างง่ายๆ ชัดๆ ไม่อ้อมค้อม แต่การหาเหตุผลมาสนับสนุนการชี้หน้านี้กลับเป็นวิธีที่อึมครึม ขาดความโปร่งใส และมีความคดเคี้ยวอย่างยิ่ง

การต่อสู้กับกลุ่มที่ขาดความเคารพต่อเหตุผลเป็นเหมือนการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายมักไม่ใช้เหตุผลในการกระทำการณ์หนึ่งๆ นอกไปจากความต้องการเห็นฝ่ายตรงข้ามต้องเจ็บปวดและพ่ายแพ้ นอกจากนี้ เราไม่อาจคาดหวัง หรือเดาใจกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ฉันใด ฉันนั้นเราก็ไม่สามารถคาดหวังกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112ะ ว่าจะยินยอมรับฟังในเหตุผล การใช้มาตรา 112ลงโทษผู้คิดต่างทางการเมือง เช่นในกรณีคุณ Joe Gordon และอีกหลายๆ ท่านที่ยังถูกจองจำอยู่นั้น ก็เปรียบเสมือนการที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ใช้ความรุนแรงในการสังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก สำหรับผม การถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ก็ไม่ต่างจากการต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์การก่อการร้าย อิสรภาพคือชีวิต ไร้ซึ่งอิสรภาพก็เปรียบเช่นเดียวกับการไร้ชีวิตนั่นเอง

และในความเป็นจริง การเรียกกลุ่มคลั่งเจ้าที่ไร้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะสิ่งที่กลุ่มคลั่งเจ้ากำลังทำอยู่ (ใช้มาตรา 112เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง) ก็เท่ากับได้ก่อการร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งใช้สถาบันเป็น “ตัวประกัน” ทางการเมืองมากเท่าไร พวกคุณก็ทำร้ายสถาบันมากเท่านั้น

การต่อสู้ของนิติราษฏร์กับ “อตรรกะ” คงไม่ยุติโดยเร็ว การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นทั้งทางการเมืองและในส่วนของสถาบันกษัตริย์เองนั้น อาจจะส่งผลให้ “อตรรกะ” กลายมาเป็นแม่แบบแห่งอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ และถูกนำไปใช้การฟาดฟันกับตรรกะ อิสระ เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ เราจะข้ามพ้นการต่อสู้นี้ไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของสังคมไทยโดยรวม และความพร้อมที่จะเปิดใจรับกับเหตุผลในการอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองของเราอย่างตรงไปตรงมา

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ http://www.voicetv.co.th/blog/697.html 



16 มกราคม 2555 เวลา 19:05 น.

22 มกราคม 2555

ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





จากข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการเสนอข้อเสนอมีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย คณะนิติราษฎร์ได้รวบรวมคำถามที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากกระแสต่างๆ และมาเสนอคำตอบ ชี้แจงต่อข้อซักถามทั้งหลาย

นายปิยบุตร กล่าวถึง คำถามเรื่องการลบล้างผลพวงทางรัฐประหารในทางกฎหมาย ว่า ทางหลักนิตินั้น ทางนิติราษฏร์ได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างที่เกิดขึ้นอย่าง เช่น การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆของรัฐบาลเผด็จการทหารในกรีซ หรือการประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆสมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาจัดการในทางหลักวิชาทางนิติศาสตร์อย่างไร และประเทศก็ได้เข้าสู่สภาวะเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อระบบกฎหมาย และการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

ส่วนคำถามเรื่องการเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารแต่มีข้อข้องใจว่าทำไมต้องครั้งปี 49 เท่านั้น นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ยืนยันว่านิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นจุดยืนคือรัฐประหารทุกครั้งเป็นการทำลายประชาธิปไตย และนิติรัฐ ซึ่งเมื่อถามว่าทำไมไม่ล้างครั้งที่ผ่านมานั้น ครั้ง 24 มิ.ย. 2475 นั้นอำนาจกลับมาสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง แต่ในข้อจำกัดหลายประการ จึงเริ่มที่ครั้งปี 49 ซึ่งมันส่งผลต่อปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันนี้ก็เกิดมาจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. และหากทำสำเร็จก็เป็นไปได้ที่จะย้อนกลับไปทำลายครั้งก่อนๆที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย

"แค่เสนอลบล้างรัฐประหารครั้งที่แล้ว ก็กรีดร้องกันตายแล้ว ถ้าเสนอให้ลบล้างทุกครั้งคนอื่นจะไม่หัวใจวายตายกันเลยหรือ" นายปูนเทพกล่าว

ต่อคำถามเรื่องข้อเสนอประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหารที่มีคนเชื่อว่าถ้านำไปปฏิบัติจริงก็ไม่ต่างกับการทำรัฐประหารเองนั้น อ.สาวตรี สุขศรี ตอบว่า ขอวิจารณ์คำถามก่อนว่า เขามีการเอาอำนาจประชาชนไปเปรียบกับคณะรัฐประหาร ซึ่งผู้ถามเหมือนอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาคือ เป็นคำถามที่ดูถูกประชาชน เป็นการเอาคณะรัฐประหารที่ขโมยประชาธิปไตยจากประชาชนมายก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ส่วนคำตอบคือ ถ้าไปเปิดรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 จะพบมาตรา 3 ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะฉะนั้น รัฏฐาธิปัตย์ก็คือประชาชน ไม่ใช่คณะรัฐประหารเพราะฉะนั้นการที่เราจะลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหารที่ทิ้งไว้จึงเปรียบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องไหนก็ตาม เมื่อการทำรัฐประหารเป็นความผิดต่อกฎหมาย การที่เราลุกขึ้นมาแล้วบอกว่านี่เป็นอำนาจของเรา จะบอกว่าการกระทำของเราสุดโต่งได้อย่างไร  เมื่อเรารักษาศักดิ์ศรีของกฎหมายบ้านเมือง สรุปคือการลบล้างผลพวงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องโดยประชาชนด้วยการลงมติแล้วกลับจะบอกว่าเราทำผิด  จะไปเทียบกับการขโมยอำนาจนั้น คำถามนี้ไม่ควรถามตั้งแต่แรก

คำถามเรื่องนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้าง ตามที่คปค. ต้องเสียแรงเหตุเป็นเพราะรัฐบาลที่ทำหน้าที่ทุจริต โกงบ้านเมือง เมื่อเสนอให้ลบล้างนั้น เหตุใดจึงไม่คิดกำจัดสาเหตุของการทำรัฐประหารไปด้วย นายปูนเทพ ตอบว่า เหตุของการรัฐประหารที่ยกขึ้นมาว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบนั้น ต่อคำถามง่ายๆนั้นคือทหารที่ขึ้นมาทำนั้นท่านไม่ทุจริตหรือ รัฐบาลที่เลือกมานั้นทุจริต เราตรวจสอบ เราวิจารณ์ได้ แต่ภายใต้รถถัง ปืน ประชาชนไม่มีหนทางตรวจสอบ ดังนั้นการทุจริต ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เหตุ แต่เป็นเพียงปัญหาที่ต้องแก้ไขในโครงสร้างประชาธิปไตย

นอกจากนี้ เรื่องการรัฐประหารเป็นเรื่องการคอร์รัปชั่นอำนาจ โดยที่ประชาชนไม่ยินยอม และเกิดไปตั้งพวกพ้องต่างๆขึ้นมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากข้อกล่าวหาที่กล่าวหาอีกฝ่าย

ขณะที่คำถามเรื่อง การที่ประกาศให้นิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเป็นโมฆะนั้นสุดโต่งไปหรือเปล่า หรือการทำแบบนี้ไม่ถือเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังหรือไม่ อ.สาวตรี กล่าวว่า คำถามที่ต้องตอบก่อนคือ ถ้าบอกว่าเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตย ต้องมีความชัดเจน คือการทำรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง แล้วกฎหมายบ้านเมืองนั้น นักฎหมายอาญาจะต้องมาตอบเลยว่า มาตรานี้อยู่ในม. 113 ซึ่งวันนี้ยังบังคับใช้อยู่ แต่ไม่เคยถูกใช้จริง

การตรากฎหมายเพื่อลงโทษย้อนหลังนั้นหมายถึง  ในขณะที่การกระทำนั้นไม่มีการบัญญัติกฎหมายว่าเป็นความผิด แต่รัฐประหารนั้นเป็นความผิดตลอดเวลา

"การที่จะมีบทบัญญัติที่ลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าคนตายและฆาตรกรยังมีอำนาจตรากฎหมายให้พ้นผิด โดยสังคมจำเป็นต้องปล่อยให้ฆาตรกรลอยนวล" กลุ่มนิติราษฎร์ระบุ

การลบล้างคำพิพากษาของศาลเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบบประชาธิปไตยหรือไม่ คณะนิติราษฎร์ระบุว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักแบ่งแยกอำนาจทำหน้าที่อะไร ในรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของสูงสุด หลักแบ่งแยกอำนาจให้ประกัน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ผู้ที่จะได้รับผลการคุ้มครองจากหลักก็ต้องทำหน้าที่ให้ตรงกับภารกิจของตัว องค์กรตุลาการได้รับการแต่งตั้ง เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย หากตุลาการใช้อำนาจของตนไปสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของการทำรัฐประหารโค่นล้มประชาธิปไตยบรรลุผล เท่ากับว่า ตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย

ขณะที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เสนอให้ลบล้างคำพิพากษาซึ่งเป็นผลพวงของการทำรัฐประหารจะจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญและให้ประชาชนเป็นผู้ออกประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจที่สูงกว่าอำนาจตุลาการ อันเป็นการลบล้างการใช้อำนาจตุลาการที่บิดผัน จึงไม่เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่เป็นการพิทักษ์รักษานิติรัฐ และประชาธิปไตยให้มั่นคงต่างหาก

คณะนิติราษฎร์ ยกตัวอย่างกรณีการลบล้างคำพิพากษาในสมัยนาซีเป็นการยกตัวอย่างผิดตัวหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่หนักหน่วงเท่าสมัยนาซี สาเหตุที่ยกตัวอย่างนั้น เพื่อที่จะบอกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจของปชช. กลับไปลบล้างการกระทำของระบอบเผด็จการนั้นทำได้ แต่เทียบกันหมัดต่อหมัดนั้นสมัยนาซีแรงกว่าเยอะ แต่หากจะวิจารณ์คำพิพากษาของศาลไทยนั้น เราสามารถวิจารณ์อย่างเต็มที่ได้พอๆกันกับศาลสมัยนาซีไหม เมื่อเรารู้ว่าเราวิจารณ์ได้ไม่เท่ากัน แล้วจะรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น พอเราวิจารณ์ได้ไม่เต็มที่ก็ประเมินไม่ได้ว่าอะไรดีกว่ากัน

สำหรับคำถามเรื่อง การให้ประชาชนออกเสียงประชามตินั้นยังไม่ใช่สิ่งสูงสุด ยังมีองค์กรตุลาการที่มีอำนาจชี้ขาดว่าประชามตินั้นขัดต่อกฎหมายและไม่มีผลบังคับ อย่างกรณีตัวอย่างคดี Perry v. Schwazenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐฯพิพากษาออกเสียงให้ผลการลงประชามติของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ประชาชนเสียงข้างมากในมลรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติบัญญัติในธรรมนูญของมลรัฐว่าการสมรสจะทำได้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย?

นาย วรเจตน์ กล่าวว่า ความมั่วของคำถามเรื่องนี้อยู่ที่บอกว่า คดีนี้เป็นคำพิพากษาของศาลสูง มันไม่ถูกต้อง คำพิพากษาเป็นศาลชั้นต้นในระดับสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ไม่ใช่การพิพากษาของศาลสูงสุดตามที่มีคนกล่าวอ้าง และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระดับสหพันธรัฐ คำพิพากษาดังกล่าวจึงยังไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน

"การออกเสียงประชามติ ต้องดูว่าเป็นเรื่องอะไร ในอเมริกาปกครองในระบบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นคนละระบบของเรา หากไทยเป็นสหพันธรัฐไทยเวลาที่แบ่งอำนาจหน้าที่ แต่ละมลรัฐก็จะมีธรรมนูญการปกครองตัวเอง และจะตกอยู่ภายใต้กฎหมายของสหพันธ์"

การที่ศาลตัดสินนั้นเป็นการตรวจสอบธรรมนูญของมลรัฐเป็นการตรวจสอบธรรมนูญของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มิให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของประเทศ อันเป็นรูปแบบการปกครองในประเทศที่เป็นสหพันธรัฐ

ส่วนกรณีรัฐธรรมนูญ 2549 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้นจะยังถูกยกเลิกได้อีกหรือไม่นั้น อ.วรเจตน์ กล่าวว่า นักฎหมายจำนวนมากจะเชี่ยวชาญหลังจากที่มีการรัฐประหาร ยกเว้นการเขียนกฎหมายเอาผิดกับคนที่เอารถถังมาปล้นอำนาจ ความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์การเมืองพัฒนาไปถึงขีดสูงสุดวันที่ 19 ก.ย.

หลังจากที่มีการยึดอำนาจก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวมี สองมาตรา คือม. 36 และ37 คือให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ยึดอำนาจ จนกระทั่้งต่อมามีการจัดทำร่างรธน.ปี 50 มีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ มีบทบัญญัติม.309 และเป็นมาตราที่บอกว่าการกระทำใดๆที่รับรองนั้นให้ถือว่าชอบตามรธน.และกฎหมาย

เราเสนอประกาศให้ม. 36 และ 37 เป็นโมฆะ ซึ่งกลุ่มนั้นก็บอกว่า มันถูกยกเลิกไปแล้วไม่ต้องไปแตะ คนที่ตั้งคำถามแบบนี้เราไม่ได้ยกเลิกสิ่งที่ยกเลิกไปแล้ว แต่เราจะให้อำนาจประชาชนไปประกาศบทบัญญัติว่าถือเสียเปล่าไม่เคยมีมาก่อนในระบบกฎหมาย และผลก็คือจะทำลายกล่องดวงใจของรัฐประหาร เมื่อทำลายแล้ว ผลคือไม่เคยมีการนิรโทษกรรม บทบัญญัติ 309 จะไม่มีผลอะไร ก็ถือว่าไม่เคยมีการยกโทษให้กับคนที่มีการกระทำความผิด และคนที่ทำนั้นก็ต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมและอยากจะบอกว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้ตบตาเราไม่ได้

คำถามเรื่องการเสนอลบล้างเป็นการเสนอเพื่อ"ทักษิณ"หรือไม่ อ.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวว่า เมื่อฟังแล้วของขึ้นและเสียดายที่หากคนถามเป็นนักกฎหมาย ท่ามกลาางการแย่งชิงอำนาจ  นักกฎหมายเป็นผู้ที่ต้องมองและชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าอะไรคือกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับ ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจต้องมีกติกา ข้อกล่าวหาที่บอกว่าเราทำเพื่อทักษิณ นั้นเราพูดถึงทักษิณมากกมายขนาดนั้นหรือ

"อยากถามกลับไปว่าถ้าเป็นนักกฎหมายแล้วคุณไม่ได้เรียนสิ่งนี้มาเลยหรือ เรื่องกติกาทางความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย เป็นผม ผมจะคืนปริญญาบัตร หมายถึงสิ่งที่เราทำมา ทักษิณเป็นเรื่องที่เล็กน้อย พวกเราจะจัดการคุณทักษิณเองถ้ามีปัญหา ความชัดเจนของเราชัดอยู่แล้ว ทักษิณเป็นนายกฯได้เดี๋ยวเดียวก็ไปแล้ว แต่โครงสร้างอุดมการณ์นิติรัฐต้องอยู่ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ"

นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องล้มสถาบันในช่วงหลังที่พยายามโยนข้อกล่าวนี้มาทำลายการเคลื่อนไหวทางความคิด ซึ่งถ้าดูตามกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น เราบอกชัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักร ซึ่งคือรัฐที่ประมุขเป็นกษัตริย์ แต่การล้มเจ้าเป็นการเปลี่ยนเป็นระบอบเป็นสาธารณรัฐต่างหาก แต่เราก็มีการปฎิรูปกฎเกณฑ์สถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายละเอียดต้องเพิ่มเติมที่จะต้องกล่าวในภายหลัง โดยรายละเอียดต่างๆที่บอกว่าห้ามแตะต้องจริงๆแล้วถูกแตะต้องมาตลอดหลังรัฐประหาร

ยันไม่มีผลประโยชน์

นายวรเจตน์ กล่าวทิ้งท้่ายว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมา เราถูกโจมตีจากหลายฝ่าย การโจมตี การกล่าวร้ายต่างๆก็มีมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องข้อกล่าวหาเรื่องแรก เรื่องการรับเงินหรือการได้ผลประโยชน์จากอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งหลายคนที่โจมตีนั้นใช้จิตใจของตนเองประเมินคนอื่น ตนยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าเรามุ่งหวังให้ประเทศเป็นนิติรัฐและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายหลังข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็น้อยลงและถูกยกระดับไปในเรื่องทางความคิด

เรื่องพยานที่พิสูจน์ไม่ได้ก็มีเรื่องข้อกล่าวหาในเรื่องความคิด กลายเป็นบอกว่า "รู้นะเราคิดอะไรอยู่" มีคนบอกว่า บางคนมาอ้างว่ารู้จักตน หรือคนอื่นๆในนิติราษฎร์ดี ซึ่งกล่าวได้ว่า ถ้าอ้างแบบนี้หมายความว่า "ไม่รู้จักดี" การที่พูดนั้นเขาไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร นี่คือความพยายามในการดิสเครดติมาทำลาย มีการพูดจาต่างๆนานาซึ่งเป็นเท็จ แต่เชื่อว่าสังคมไทยอยู่กับความเท็จมานานหลายปีแล้ว ตนเองก็ไม่มีปัญหากับสื่อ เพื่อนร่วมวิชาชีพ หรือใครทั้งสิ้น แต่อยากขอให้สู้กันแบบยุติธรรมในทางความคิด อย่าทำร้ายด้วยวิธีการสกปรกอย่างที่ทำมาโดยตลอด

"สำหรับเรื่องการจัดสถานที่ที่นิติศาสตร์นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีก็เล็กๆน้อยๆเราก็ลงขันกันทำ แต่การจัดงานครั้งนี้ มีการใช้สถานที่ซึ่งไม่อาจสะดวกต่อการเรียนการสอน การที่มาจัดที่หอประชุมศรีบูรพาแม้จะมีค่าใช้จ่ายบ้างแต่ถึงวันนี้ เราไม่รับบริจาคใดๆ เพื่อให้เป็นการประชุมทางวิชาการโดยไม่มีข้อครหาใดๆ แต่หากครั้งต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความจำเป็นใดๆก็จะชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ขอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการรับเงินใดๆ ส่วนที่ผ่านมามีการติดต่อขอสนับสนุน ซึ่งตนคิดว่าอยากแค่เผยแพร่ความคิดไปสู่ประชาชน เราลงทุนน้อยแต่ผลกำไรที่ได้กลับมานั้นสูง สิ่งที่ทำไปทุกคนทำด้วยใจไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆแม้แต่น้อย "