23 มกราคม 2555

มาตรา 112: การต่อสู้ระหว่างตรรกะกับอตรรกะ




ผมขอเรียกวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวัน “นิติราษฎร์” ก็แล้วกัน แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงาน แต่ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้ทั้งอ่านและฟังคำอธิบายของกลุ่มนิติราษฎร์ที่มีเหตุผลและมีวุฒิภาวะ เรียกได้ว่า ผมรู้สึก “ตาสว่าง” อีกรอบ กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุที่กฏหมายฉบับนี้ มีลักษณะที่เป็น“อประชาธิปไตย” อยู่มาก มิหนำซ้ำ ตัวบทกฏหมายเองยังเปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้อย่างผิดๆ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคลั่งเจ้า ประเด็นนี้ผมได้กล่าวถึงหลายครั้ง และจะไม่ขอนำกลับมาพูดอีก เพราะถ้าพูดอีด กลุ่มต่อต้านการเคลื่อนไหวที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็คงไม่ฟังเหมือนเคย พูดไปก็เปลืองน้ำลาย ถ่มลงพื้นอาจจะยังมีประโยชน์มากกว่า





สิ่งที่นิติราษฏร์ได้ริเริ่มขึ้น ผมถือว่าเป็นการก้าวข้ามความกลัวที่ยิ่งใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น a grand stepจากนี้ไป ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ มาตรา 112 จะยังคงหลอกหลอนเราอยู่หรือไม่ และจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยอีกเพียงใด ผมเห็นว่า นิติราษฏร์ได้บรรลุภารกิจไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เห็นว่าเป็นความสำเร็จชัดๆ คือการเคลื่อนให้ประเด็นแก้ไขมาตรา 112กลายมาเป็นญัตติแห่งชาติ นิติราษฏร์ได้พังกำแพงแห่งประเด็นต้องห้าม (taboo) และเบิกทางให้มีการถกเถียงและอภิปรายกรณีกฏหมายมาตรา 112 อย่างกว้างขวางและมีเหตุผล ความสำเร็จในการแก้ไขมาตรานี้เป็นครึ่งที่เหลือที่รอเราอยู่ และผมเชื่อว่า ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ไป กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาใช้มาตรการข่มขู่ให้เกิดความกลัวมากขึ้น มีการไล่คนออกนอกประเทศมากขึ้น ผมขอทำนายว่า กรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดมาตรา 112 ก็จะเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การจับกุมผู้ไม่เห็นด้วยมากขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ Genie ได้ออกมาจากขวดแล้ว คงเรียกกลับลำบาก









บทความนี้ไม่ต้องการที่จะย้ำในประเด็นเดิมๆ กล่าวคือ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความเชื่อของคนสองกลุ่มในประเด็น 112 นำไปสู่การเผชิญหน้ากันที่มี “อิสรภาพ” เป็นเครื่องเดิมพัน แต่ที่ผมขอย้ำในบทความนี้ก็คือ ผมเห็นว่า การต่อสู้ในเรื่องมาตรา 112 เอาเข้าจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างเหตุผลกับความไร้เหตุผล หรือ ตรรกะกับความอตรรกะ ผมบอกได้เลย (และปราศจากอคติ) ว่า ผมสนับสนุนกลุ่มนิติราษฏร์เพราะอุดมการณ์และข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล (ที่ต้องการเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แบบที่กลุ่มคลั่งเจ้าหลอกตัวเองไปวันๆ ดัดจริต define ประเทศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในก็เป็นเผด็จการดีๆ นี่เอง) การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ของนิติราษฏร์ (ด้วยหลักของเหตุผล) จึงไม่มีวันแพ้ แม้ชัยชนะอาจจะไม่เกิดขึ้นภายในวันพรุ่งนี้ แต่ความหวังของการต่อสู้ยังมีอยู่มาก

นับตั้งแต่ที่มีการรณรงค์เพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112รวมถึงในช่วงเวลาที่ผมได้มีโอกาสจัดการรณรงค์ที่ให้มีการปล่อยตัว “อากง” ผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112นี้เช่นกันนั้น ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยได้ใช้ตรรกะในการลบล้างข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์และของโครงการอากงของผมเองได้ ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายตรงข้ามมีมากครับ มีเกือบทุกวัน อ่านกันในหนังสือพิมพ์และใน Facebook กับจนตาลาย แต่อ่านแล้ว ผมยังไม่พบแสงสว่างที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการชี้นำสังคมในประเด็นเรื่อง 112 สิ่งที่ผมพบคือความโง่เขลา (บางรายแกล้งโง่) ความไร้เดียงสา (แกล้งไร้เดียงสา) ความขมขื่น (bitterness) ความละเลยเพิกเฉย และความกระเหี้ยนกระหือรือในการปกป้องความคิดแบบเก่า อุดมการณ์แบบเก่า โดยไม่คำนึงว่าสังคมไทยเคลื่อนตัวไปข้างหน้ารวดเร็วมากเพียงใดแล้ว

กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มคลั่งเจ้า เรียงหน้ากับออกมาแสดงความ “อตรรกะ” ของตนเองต่อสาธารณชนเพื่อปกป้องมาตรา 112 ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ได้ออกมาเหน็บแนมกลุ่มนิติราษฏร์ว่าเป็นนักวิชาการสมองเปิด (ต่างกับท่านที่มีสมองแบบ “ตีบ” หรือ?) พร้อมทั้งขู่เข็นไล่ให้นิติราษฏร์และผู้สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 อพยพไปอยู่ต่างประเทศ ผมได้ตอบโต้ท่าน ผบ.ทบ.ไปแล้วในหลายโอกาส แต่ไม่ทราบว่าท่านจะได้ยินหรือไม่ อาจจะไม่ เพราะการที่มีอาการสมองตีบอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของแก้วหู ถึงกระนั้น จุดที่ผมขอเน้นก็คือ ท่าน ผบ.ทบ.ไม่เคยให้เหตุผลว่าทำไมไม่สมควรให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ผมขอให้ท่านเลิกพูดเสียทีว่า ท่านต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์แบบลอยๆ เพราะนิติราษฏร์ได้ระบุไว้อย่างขัดเจนว่า การแก้ไขมาตรา 112 นั่นเองที่จะเป็นหัวใจนำไปสู่การปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง และในความเป็นจริง พลเอกประยุทธ์ ไม่สมควรแสดงความเห็นทางการเมืองด้วยซ้ำ หากมองไปในหลายๆ ประเทศ ผู้นำกองทัพมีความเป็นมืออาชีพสูงและหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่ในประเทศไทยนี้ ผบ.ทบ.กลับทำตัวเสมือนนายกรัฐมนตรี

หรือกรณีที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ใช้วาจาค่อนแคะกลุ่มนิติราษฏร์ว่าไม่มีงานทำ มัวแต่มาจ้องแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ให้เหตุผลของการคัดค้านกลุ่มนิติราษฏร์ จริงๆ ผมก็ทราบเหตุผลของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บ้างเหมือนกัน คุณเฉลิมก็น่าจะออกมายอมรับตรงๆ ว่า ได้เกี๊ยะเซี๊ยะกับ “ท่านผู้ใหญ่” ไว้แล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่แตะกฏหมาย 112

ส่วนที่เหลือ ก็พยายามใช้วาทกรรมเดิมๆ ในการลดความน่าเชื่อถือกลุ่มนิติราษฏร์และความพยายามแก้ไขมาตรา 112 มีตั้งแต่การด่าทอว่านิติราษฏร์ไม่ใช่คนไทย ไม่รักพ่อ ไม่มีความเป็นไทย (ก็คงจะไม่มีจริงๆ แหละครับ เพราะความเป็นไทยคือความดัดจริตนั่นเอง) เป็นทาสรับใช้คุณทักษิณ ถูกจ้างโดยคุณทักษิณ (ถ้ามีการจ้างกันจริงๆ ผมและนิติราษฏร์คงรวยกันไปแล้ว) เป็นทาสฝรั่ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ ไม่สำนึกบุญคุณแผ่นดิน ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ทรงรักษาเอกราชของไทยเพื่อให้ลูกหลานได้มีเสรีภาพเยี่ยงทุกวันนี้ (อิสรเสรีภาพ?) ไปจนถึงถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายสถาบันและล้มเจ้า ในบรรดาคำกล่าวหาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถหาเหตุผลมาให้การสนับสนุนได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน แต่นี่เป็นยุทธวิธีหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามครับ ที่แสดงว่า การชี้หน้าว่าใครเป็นศัตรูต่อประเทศ ต่อสถาบัน ทำกันอย่างง่ายๆ ชัดๆ ไม่อ้อมค้อม แต่การหาเหตุผลมาสนับสนุนการชี้หน้านี้กลับเป็นวิธีที่อึมครึม ขาดความโปร่งใส และมีความคดเคี้ยวอย่างยิ่ง

การต่อสู้กับกลุ่มที่ขาดความเคารพต่อเหตุผลเป็นเหมือนการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายมักไม่ใช้เหตุผลในการกระทำการณ์หนึ่งๆ นอกไปจากความต้องการเห็นฝ่ายตรงข้ามต้องเจ็บปวดและพ่ายแพ้ นอกจากนี้ เราไม่อาจคาดหวัง หรือเดาใจกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ฉันใด ฉันนั้นเราก็ไม่สามารถคาดหวังกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112ะ ว่าจะยินยอมรับฟังในเหตุผล การใช้มาตรา 112ลงโทษผู้คิดต่างทางการเมือง เช่นในกรณีคุณ Joe Gordon และอีกหลายๆ ท่านที่ยังถูกจองจำอยู่นั้น ก็เปรียบเสมือนการที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ใช้ความรุนแรงในการสังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก สำหรับผม การถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ก็ไม่ต่างจากการต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์การก่อการร้าย อิสรภาพคือชีวิต ไร้ซึ่งอิสรภาพก็เปรียบเช่นเดียวกับการไร้ชีวิตนั่นเอง

และในความเป็นจริง การเรียกกลุ่มคลั่งเจ้าที่ไร้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะสิ่งที่กลุ่มคลั่งเจ้ากำลังทำอยู่ (ใช้มาตรา 112เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง) ก็เท่ากับได้ก่อการร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งใช้สถาบันเป็น “ตัวประกัน” ทางการเมืองมากเท่าไร พวกคุณก็ทำร้ายสถาบันมากเท่านั้น

การต่อสู้ของนิติราษฏร์กับ “อตรรกะ” คงไม่ยุติโดยเร็ว การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นทั้งทางการเมืองและในส่วนของสถาบันกษัตริย์เองนั้น อาจจะส่งผลให้ “อตรรกะ” กลายมาเป็นแม่แบบแห่งอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ และถูกนำไปใช้การฟาดฟันกับตรรกะ อิสระ เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ เราจะข้ามพ้นการต่อสู้นี้ไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของสังคมไทยโดยรวม และความพร้อมที่จะเปิดใจรับกับเหตุผลในการอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองของเราอย่างตรงไปตรงมา

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ http://www.voicetv.co.th/blog/697.html 



16 มกราคม 2555 เวลา 19:05 น.

22 มกราคม 2555

ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





จากข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการเสนอข้อเสนอมีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย คณะนิติราษฎร์ได้รวบรวมคำถามที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากกระแสต่างๆ และมาเสนอคำตอบ ชี้แจงต่อข้อซักถามทั้งหลาย

นายปิยบุตร กล่าวถึง คำถามเรื่องการลบล้างผลพวงทางรัฐประหารในทางกฎหมาย ว่า ทางหลักนิตินั้น ทางนิติราษฏร์ได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างที่เกิดขึ้นอย่าง เช่น การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆของรัฐบาลเผด็จการทหารในกรีซ หรือการประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆสมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาจัดการในทางหลักวิชาทางนิติศาสตร์อย่างไร และประเทศก็ได้เข้าสู่สภาวะเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อระบบกฎหมาย และการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

ส่วนคำถามเรื่องการเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารแต่มีข้อข้องใจว่าทำไมต้องครั้งปี 49 เท่านั้น นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ยืนยันว่านิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นจุดยืนคือรัฐประหารทุกครั้งเป็นการทำลายประชาธิปไตย และนิติรัฐ ซึ่งเมื่อถามว่าทำไมไม่ล้างครั้งที่ผ่านมานั้น ครั้ง 24 มิ.ย. 2475 นั้นอำนาจกลับมาสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง แต่ในข้อจำกัดหลายประการ จึงเริ่มที่ครั้งปี 49 ซึ่งมันส่งผลต่อปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันนี้ก็เกิดมาจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. และหากทำสำเร็จก็เป็นไปได้ที่จะย้อนกลับไปทำลายครั้งก่อนๆที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย

"แค่เสนอลบล้างรัฐประหารครั้งที่แล้ว ก็กรีดร้องกันตายแล้ว ถ้าเสนอให้ลบล้างทุกครั้งคนอื่นจะไม่หัวใจวายตายกันเลยหรือ" นายปูนเทพกล่าว

ต่อคำถามเรื่องข้อเสนอประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหารที่มีคนเชื่อว่าถ้านำไปปฏิบัติจริงก็ไม่ต่างกับการทำรัฐประหารเองนั้น อ.สาวตรี สุขศรี ตอบว่า ขอวิจารณ์คำถามก่อนว่า เขามีการเอาอำนาจประชาชนไปเปรียบกับคณะรัฐประหาร ซึ่งผู้ถามเหมือนอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาคือ เป็นคำถามที่ดูถูกประชาชน เป็นการเอาคณะรัฐประหารที่ขโมยประชาธิปไตยจากประชาชนมายก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ส่วนคำตอบคือ ถ้าไปเปิดรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 จะพบมาตรา 3 ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะฉะนั้น รัฏฐาธิปัตย์ก็คือประชาชน ไม่ใช่คณะรัฐประหารเพราะฉะนั้นการที่เราจะลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหารที่ทิ้งไว้จึงเปรียบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องไหนก็ตาม เมื่อการทำรัฐประหารเป็นความผิดต่อกฎหมาย การที่เราลุกขึ้นมาแล้วบอกว่านี่เป็นอำนาจของเรา จะบอกว่าการกระทำของเราสุดโต่งได้อย่างไร  เมื่อเรารักษาศักดิ์ศรีของกฎหมายบ้านเมือง สรุปคือการลบล้างผลพวงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องโดยประชาชนด้วยการลงมติแล้วกลับจะบอกว่าเราทำผิด  จะไปเทียบกับการขโมยอำนาจนั้น คำถามนี้ไม่ควรถามตั้งแต่แรก

คำถามเรื่องนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้าง ตามที่คปค. ต้องเสียแรงเหตุเป็นเพราะรัฐบาลที่ทำหน้าที่ทุจริต โกงบ้านเมือง เมื่อเสนอให้ลบล้างนั้น เหตุใดจึงไม่คิดกำจัดสาเหตุของการทำรัฐประหารไปด้วย นายปูนเทพ ตอบว่า เหตุของการรัฐประหารที่ยกขึ้นมาว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบนั้น ต่อคำถามง่ายๆนั้นคือทหารที่ขึ้นมาทำนั้นท่านไม่ทุจริตหรือ รัฐบาลที่เลือกมานั้นทุจริต เราตรวจสอบ เราวิจารณ์ได้ แต่ภายใต้รถถัง ปืน ประชาชนไม่มีหนทางตรวจสอบ ดังนั้นการทุจริต ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เหตุ แต่เป็นเพียงปัญหาที่ต้องแก้ไขในโครงสร้างประชาธิปไตย

นอกจากนี้ เรื่องการรัฐประหารเป็นเรื่องการคอร์รัปชั่นอำนาจ โดยที่ประชาชนไม่ยินยอม และเกิดไปตั้งพวกพ้องต่างๆขึ้นมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากข้อกล่าวหาที่กล่าวหาอีกฝ่าย

ขณะที่คำถามเรื่อง การที่ประกาศให้นิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเป็นโมฆะนั้นสุดโต่งไปหรือเปล่า หรือการทำแบบนี้ไม่ถือเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังหรือไม่ อ.สาวตรี กล่าวว่า คำถามที่ต้องตอบก่อนคือ ถ้าบอกว่าเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตย ต้องมีความชัดเจน คือการทำรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง แล้วกฎหมายบ้านเมืองนั้น นักฎหมายอาญาจะต้องมาตอบเลยว่า มาตรานี้อยู่ในม. 113 ซึ่งวันนี้ยังบังคับใช้อยู่ แต่ไม่เคยถูกใช้จริง

การตรากฎหมายเพื่อลงโทษย้อนหลังนั้นหมายถึง  ในขณะที่การกระทำนั้นไม่มีการบัญญัติกฎหมายว่าเป็นความผิด แต่รัฐประหารนั้นเป็นความผิดตลอดเวลา

"การที่จะมีบทบัญญัติที่ลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าคนตายและฆาตรกรยังมีอำนาจตรากฎหมายให้พ้นผิด โดยสังคมจำเป็นต้องปล่อยให้ฆาตรกรลอยนวล" กลุ่มนิติราษฎร์ระบุ

การลบล้างคำพิพากษาของศาลเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบบประชาธิปไตยหรือไม่ คณะนิติราษฎร์ระบุว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักแบ่งแยกอำนาจทำหน้าที่อะไร ในรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของสูงสุด หลักแบ่งแยกอำนาจให้ประกัน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ผู้ที่จะได้รับผลการคุ้มครองจากหลักก็ต้องทำหน้าที่ให้ตรงกับภารกิจของตัว องค์กรตุลาการได้รับการแต่งตั้ง เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย หากตุลาการใช้อำนาจของตนไปสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของการทำรัฐประหารโค่นล้มประชาธิปไตยบรรลุผล เท่ากับว่า ตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย

ขณะที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เสนอให้ลบล้างคำพิพากษาซึ่งเป็นผลพวงของการทำรัฐประหารจะจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญและให้ประชาชนเป็นผู้ออกประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจที่สูงกว่าอำนาจตุลาการ อันเป็นการลบล้างการใช้อำนาจตุลาการที่บิดผัน จึงไม่เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่เป็นการพิทักษ์รักษานิติรัฐ และประชาธิปไตยให้มั่นคงต่างหาก

คณะนิติราษฎร์ ยกตัวอย่างกรณีการลบล้างคำพิพากษาในสมัยนาซีเป็นการยกตัวอย่างผิดตัวหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่หนักหน่วงเท่าสมัยนาซี สาเหตุที่ยกตัวอย่างนั้น เพื่อที่จะบอกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจของปชช. กลับไปลบล้างการกระทำของระบอบเผด็จการนั้นทำได้ แต่เทียบกันหมัดต่อหมัดนั้นสมัยนาซีแรงกว่าเยอะ แต่หากจะวิจารณ์คำพิพากษาของศาลไทยนั้น เราสามารถวิจารณ์อย่างเต็มที่ได้พอๆกันกับศาลสมัยนาซีไหม เมื่อเรารู้ว่าเราวิจารณ์ได้ไม่เท่ากัน แล้วจะรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น พอเราวิจารณ์ได้ไม่เต็มที่ก็ประเมินไม่ได้ว่าอะไรดีกว่ากัน

สำหรับคำถามเรื่อง การให้ประชาชนออกเสียงประชามตินั้นยังไม่ใช่สิ่งสูงสุด ยังมีองค์กรตุลาการที่มีอำนาจชี้ขาดว่าประชามตินั้นขัดต่อกฎหมายและไม่มีผลบังคับ อย่างกรณีตัวอย่างคดี Perry v. Schwazenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐฯพิพากษาออกเสียงให้ผลการลงประชามติของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ประชาชนเสียงข้างมากในมลรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติบัญญัติในธรรมนูญของมลรัฐว่าการสมรสจะทำได้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย?

นาย วรเจตน์ กล่าวว่า ความมั่วของคำถามเรื่องนี้อยู่ที่บอกว่า คดีนี้เป็นคำพิพากษาของศาลสูง มันไม่ถูกต้อง คำพิพากษาเป็นศาลชั้นต้นในระดับสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ไม่ใช่การพิพากษาของศาลสูงสุดตามที่มีคนกล่าวอ้าง และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระดับสหพันธรัฐ คำพิพากษาดังกล่าวจึงยังไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน

"การออกเสียงประชามติ ต้องดูว่าเป็นเรื่องอะไร ในอเมริกาปกครองในระบบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นคนละระบบของเรา หากไทยเป็นสหพันธรัฐไทยเวลาที่แบ่งอำนาจหน้าที่ แต่ละมลรัฐก็จะมีธรรมนูญการปกครองตัวเอง และจะตกอยู่ภายใต้กฎหมายของสหพันธ์"

การที่ศาลตัดสินนั้นเป็นการตรวจสอบธรรมนูญของมลรัฐเป็นการตรวจสอบธรรมนูญของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มิให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของประเทศ อันเป็นรูปแบบการปกครองในประเทศที่เป็นสหพันธรัฐ

ส่วนกรณีรัฐธรรมนูญ 2549 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้นจะยังถูกยกเลิกได้อีกหรือไม่นั้น อ.วรเจตน์ กล่าวว่า นักฎหมายจำนวนมากจะเชี่ยวชาญหลังจากที่มีการรัฐประหาร ยกเว้นการเขียนกฎหมายเอาผิดกับคนที่เอารถถังมาปล้นอำนาจ ความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์การเมืองพัฒนาไปถึงขีดสูงสุดวันที่ 19 ก.ย.

หลังจากที่มีการยึดอำนาจก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวมี สองมาตรา คือม. 36 และ37 คือให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ยึดอำนาจ จนกระทั่้งต่อมามีการจัดทำร่างรธน.ปี 50 มีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ มีบทบัญญัติม.309 และเป็นมาตราที่บอกว่าการกระทำใดๆที่รับรองนั้นให้ถือว่าชอบตามรธน.และกฎหมาย

เราเสนอประกาศให้ม. 36 และ 37 เป็นโมฆะ ซึ่งกลุ่มนั้นก็บอกว่า มันถูกยกเลิกไปแล้วไม่ต้องไปแตะ คนที่ตั้งคำถามแบบนี้เราไม่ได้ยกเลิกสิ่งที่ยกเลิกไปแล้ว แต่เราจะให้อำนาจประชาชนไปประกาศบทบัญญัติว่าถือเสียเปล่าไม่เคยมีมาก่อนในระบบกฎหมาย และผลก็คือจะทำลายกล่องดวงใจของรัฐประหาร เมื่อทำลายแล้ว ผลคือไม่เคยมีการนิรโทษกรรม บทบัญญัติ 309 จะไม่มีผลอะไร ก็ถือว่าไม่เคยมีการยกโทษให้กับคนที่มีการกระทำความผิด และคนที่ทำนั้นก็ต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมและอยากจะบอกว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้ตบตาเราไม่ได้

คำถามเรื่องการเสนอลบล้างเป็นการเสนอเพื่อ"ทักษิณ"หรือไม่ อ.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวว่า เมื่อฟังแล้วของขึ้นและเสียดายที่หากคนถามเป็นนักกฎหมาย ท่ามกลาางการแย่งชิงอำนาจ  นักกฎหมายเป็นผู้ที่ต้องมองและชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าอะไรคือกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับ ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจต้องมีกติกา ข้อกล่าวหาที่บอกว่าเราทำเพื่อทักษิณ นั้นเราพูดถึงทักษิณมากกมายขนาดนั้นหรือ

"อยากถามกลับไปว่าถ้าเป็นนักกฎหมายแล้วคุณไม่ได้เรียนสิ่งนี้มาเลยหรือ เรื่องกติกาทางความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย เป็นผม ผมจะคืนปริญญาบัตร หมายถึงสิ่งที่เราทำมา ทักษิณเป็นเรื่องที่เล็กน้อย พวกเราจะจัดการคุณทักษิณเองถ้ามีปัญหา ความชัดเจนของเราชัดอยู่แล้ว ทักษิณเป็นนายกฯได้เดี๋ยวเดียวก็ไปแล้ว แต่โครงสร้างอุดมการณ์นิติรัฐต้องอยู่ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ"

นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องล้มสถาบันในช่วงหลังที่พยายามโยนข้อกล่าวนี้มาทำลายการเคลื่อนไหวทางความคิด ซึ่งถ้าดูตามกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น เราบอกชัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักร ซึ่งคือรัฐที่ประมุขเป็นกษัตริย์ แต่การล้มเจ้าเป็นการเปลี่ยนเป็นระบอบเป็นสาธารณรัฐต่างหาก แต่เราก็มีการปฎิรูปกฎเกณฑ์สถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายละเอียดต้องเพิ่มเติมที่จะต้องกล่าวในภายหลัง โดยรายละเอียดต่างๆที่บอกว่าห้ามแตะต้องจริงๆแล้วถูกแตะต้องมาตลอดหลังรัฐประหาร

ยันไม่มีผลประโยชน์

นายวรเจตน์ กล่าวทิ้งท้่ายว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมา เราถูกโจมตีจากหลายฝ่าย การโจมตี การกล่าวร้ายต่างๆก็มีมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องข้อกล่าวหาเรื่องแรก เรื่องการรับเงินหรือการได้ผลประโยชน์จากอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งหลายคนที่โจมตีนั้นใช้จิตใจของตนเองประเมินคนอื่น ตนยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าเรามุ่งหวังให้ประเทศเป็นนิติรัฐและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายหลังข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็น้อยลงและถูกยกระดับไปในเรื่องทางความคิด

เรื่องพยานที่พิสูจน์ไม่ได้ก็มีเรื่องข้อกล่าวหาในเรื่องความคิด กลายเป็นบอกว่า "รู้นะเราคิดอะไรอยู่" มีคนบอกว่า บางคนมาอ้างว่ารู้จักตน หรือคนอื่นๆในนิติราษฎร์ดี ซึ่งกล่าวได้ว่า ถ้าอ้างแบบนี้หมายความว่า "ไม่รู้จักดี" การที่พูดนั้นเขาไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร นี่คือความพยายามในการดิสเครดติมาทำลาย มีการพูดจาต่างๆนานาซึ่งเป็นเท็จ แต่เชื่อว่าสังคมไทยอยู่กับความเท็จมานานหลายปีแล้ว ตนเองก็ไม่มีปัญหากับสื่อ เพื่อนร่วมวิชาชีพ หรือใครทั้งสิ้น แต่อยากขอให้สู้กันแบบยุติธรรมในทางความคิด อย่าทำร้ายด้วยวิธีการสกปรกอย่างที่ทำมาโดยตลอด

"สำหรับเรื่องการจัดสถานที่ที่นิติศาสตร์นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีก็เล็กๆน้อยๆเราก็ลงขันกันทำ แต่การจัดงานครั้งนี้ มีการใช้สถานที่ซึ่งไม่อาจสะดวกต่อการเรียนการสอน การที่มาจัดที่หอประชุมศรีบูรพาแม้จะมีค่าใช้จ่ายบ้างแต่ถึงวันนี้ เราไม่รับบริจาคใดๆ เพื่อให้เป็นการประชุมทางวิชาการโดยไม่มีข้อครหาใดๆ แต่หากครั้งต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความจำเป็นใดๆก็จะชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ขอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการรับเงินใดๆ ส่วนที่ผ่านมามีการติดต่อขอสนับสนุน ซึ่งตนคิดว่าอยากแค่เผยแพร่ความคิดไปสู่ประชาชน เราลงทุนน้อยแต่ผลกำไรที่ได้กลับมานั้นสูง สิ่งที่ทำไปทุกคนทำด้วยใจไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆแม้แต่น้อย "


23 พฤศจิกายน 2554




อากง” หรือ นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ถูกจับเมื่อกลางปี2553 หลังเหตุการณ์การชุมนุมของเสื้อแดงได้ไม่นาน เป็นคดีผลงานคดีเดียวที่ตำรวจไล่จับตามที่อ้างว่าพวกเสื้อแดงมีขบวนการหมิ่นฯ ล้มล้างสถาบันฯ และออกแถลงข่าวใหญ่โต ข้อหาคือการส่งSMS เข้ามือถือเลขาฯนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความผิดกฎหมาย 4 ข้อความ ซึ่งแอบดูมาเห็นว่าหนักทีเดียว เป็นข้อความที่แรงและหยาบคายที่สุดสำหรับการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯ ทั้งในยุคนี้และยุคก่อน


หลังอัยการส่งฟ้อง ศาลอ่านข้อความที่ถูกฟ้องแล้วคงรู้สึกไม่ต่างจากคนไทยหลายต่อหลายคนจึงสั่งไม่ให้ประกันตัว อากงนอนอยู่ในห้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมแล้วเกือบหนึ่งปี ก่อนจะได้รับการพิจารณาความถูกผิด และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2554 สายตาจำนวนมากก็จดจ้องมาที่บัลลังก์พิจารณาคดีของศาลอาญา
ตามบันทึกการประชุม ในฐานะสมาชิกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผมอยู่ในคดีนี้

30 กันยายน 2554 ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญารัชดา เวลา 9.00 น. เป็นวันที่อากงจะขึ้นเบิกความต่อศาลเอง หลังจากที่พยานหลักฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการสืบสวนที่อากงฟังไม่เข้าใจได้ถูกนำสืบไปหมดแล้ว


ผมไม่ได้ทำครับ” อากงเงยหน้ามองศาล พูดอย่างฉะฉาน
ทนายความถามว่าเบอร์โทรศัพท์ของเลขาฯนายกนี้อากงรู้ไหมว่าเป็นเบอร์ของใคร
ผมไม่รู้ครับ” อากงตอบฉะฉานเช่นเดิม
แล้วทนายก็มีคำถามที่เราไม่ได้เตรียมร่วมกันมาก่อน โดยเอาข้อความที่ถูกฟ้อง ซึ่งเป็นถ้อยคำหยาบคายมาเปิดให้แกดู ทนายพูนสุข ถามอากงว่า พยานเห็นข้อความนี้แล้วรู้สึกอย่างไร
อากงตอบไม่ฉะฉานแล้ว เสียงแกสั่นเครือ ผมเสียใจมากครับ ... ก็เค้าด่าในหลวง” มองจากข้างหลังเห็นคอแกแดงก่ำ แกร้องไห้ นาทีนั้นทั้งห้องเงียบกริบ
ทนายบอกว่า ใจเย็นๆ ค่ะ แล้วพยานมีความรู้สึกอย่างไรต่อในหลวงคะ?
ผมรักในหลวงครับ” อากงยังร้องไห้อยู่ ตอบเต็มปากเต็มคำอย่างช้าๆ

หลังจากนั้นอากงยังเล่าให้ศาลฟังว่า ตอนในหลวงป่วยก็ไปเยี่ยมที่ศิริราช เคยไปลงนามถวายพระพร ไปร่วมงานเฉลิม และ งานที่วางดอกไม้จันทร์ ผมก็ไป” อากงเสียใจมากที่ถูกฟ้องคดีนี้เพราะอากงรักในหลวง ตลอดการกล่าวถึงประวัติของแกกับสถาบันฯ คนแก่อายุ 61 ยังคงร้องไห้ต่อหน้าบัลลังก์ศาลและต่อหน้าทุกคน ถ้าอากงกำลังโกหก นักแสดง
ฮอลลีวู้ดรางวัลออสการ์คงต้องกลับมาให้อากงสอนใหม่


ปริศนาของคดีนี้ยังไม่มีใครรู้ความจริง ใครเป็นคนส่งข้อความส่งทำไมและทำไมหลักฐานถึงโยงมาว่าเป็นอากงทนายความได้ใช้ความเป็นมนุษย์เข้าต่อสู้กับหลักฐานทางคอมพิวเตอร์อย่างดีที่สุดแล้ว มีคนคนเดียวที่รู้คำตอบนี้นั่นคือ ตัวอากงเอง และวันนี้อากงได้ใช้โอกาสเดียวที่มีบอกความจริงกับโลกแล้ว

อ่านบทความเต็มๆได้ที่นี่ http://www.go6tv.com/2011/11/sms-20.html

27 กันยายน 2554

กลุ่มกิจกรรม ยื่นหนังสือสถานทูตอเมริกา ร้องคืนอิสรภาพให้ Mr.Joe W. Gordon










จดหมายตอบรับจากสถานทูตอเมริกา
จดหมายลายมือของ จอหน์ กอร์ดอน เขียนถึง ประธานาธิบดี โอบามาร์




เรียน ท่านเอกอักคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา รัฐไทยบุกเข้าจับกุมตัวMr.Joe W. Gordon พลเมืองชาวอเมริกัน ที่บ้านพักในจังหวัดนครราชสีมา ด้วยข้อกล่าวมาตรา 112 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ(Les Majeste Law) โดยกล่าวหาว่า Mr.Joe คือนาย สิน แซ่จิ้ว ผู้แปลหนังสือ The King Never Smilesเป็นภาษาไทย ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยYale University และศาลไทยได้คัดค้านการประกันตัวมาโดยตลอด ในระหว่างที่ยังมิได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ
ซึ่งต่อมา ในวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญารัชดา รับฟ้องคดี Mr.Joe W. Gordon ซึ่งส่งผลให้ในอีก 3 วันต่อมา สถานเอกอัครราชทูตทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแถลงผ่านเว็บไซต์ของสถานทูต (bangkok.usembassy.gov) ในถ้อยแถลงที่ใช้ชื่อว่า "Embassy Statement on U.S. Citizen Joe Gordon" โดยกล่าวแสดงความผิดหวังที่อัยการดำเนินการฟ้องพลเมืองอเมริกันในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดยในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า "สหรัฐอเมริการู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจของอัยการไทย ที่ดำเนินการฟ้อง Mr.Joe W. Gordon พลเมืองสหรัฐอเมริกา ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางการสหรัฐได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทยอย่างครอบคลุม เกี่ยวกับคดีของนายกอร์ดอน โดยย้ำถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของเขาในการใช้สิทธิในฐานะพลเมืองอเมริกัน"
และในแถลงการณ์ฉบับนั้นยังระบุย้ำว่า "เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยให้ความมั่นใจว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ควรได้รับการเคารพ และนายกอร์ดอน ในฐานะพลเมืองสหรัฐฯจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม"
แต่กระนั้น ผ่านเวลามากว่า 5 สัปดาห์ ทางรัฐบาลไทยก็มิได้มีความเคลื่อนไหวใดๆต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และจนถึงวันนี้ Mr.Joe W. Gordon ก็ยังถูกกักขังอยู่อย่างยากลำบากในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ในนามกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงรวมตัวกันและต้องการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและพลเมืองชาวอเมริกันทุกๆคน ดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามาให้การช่วยเหลือ Mr.Joe W. Gordon อย่างเร่งด่วนเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด ในฐานะพลเมืองแห่งสหรัฐอเมริกาที่ถูกจับกุมคุมขัง โดยการบังคับใช้ที่มีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งการบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีปัญหาที่ตัวบทกฎหมายเอง ในกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(Les Majeste Law) เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อคืนอิสระภาพให้กับMr.Joe W. Gordon พลเมืองของท่าน
2.ในโอกาสที่ประธานาธิปดีบารัค โอบาม่า แห่งสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการจะได้พบปะกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทยในเร็ววันนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำประเด็นปัญหากรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 เข้าร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นประเด็นลำดับต้นๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานแห่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทั้งสองประเทศที่จำเป็นต้องธำรงค์รักษาเอาไว้ซึ่งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยกำลังเป้นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและสากลโลก ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพลเมือง
3.เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ในกรณีที่ศาลสั่งฟ้องและคัดค้านการประกันตัว Mr.Joe W. Gordon ที่ถูกคุมขังอยู่ มาโดยตลอดโดยที่ยังมิได้มีการพิสูจน์หลักฐานใดๆว่า Mr.Joe W. Gordon ได้กระทำความผิดจริงตามที่ศาลกล่าวอ้าง ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายสากลในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ที่ตามหลักสากลต้องคำนึงเอาไว้เสมอว่าไม่ว่าในคดีใดๆในโลกผู้ถูกกล่าวหานั้น ย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอ ตราบเท่าที่ยังมิสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาเหล่านั้นได้กระทำความผิดจริง แต่รัฐไทยกลับปฏิบัติกับ"ผู้บริสุทธิ์" ไม่ต่างจาก "นักโทษ" ผู้กระทำความผิดที่สำเร็จโทษแล้ว
เราจึงจำเป็นต้องมาเรียกร้องต่อท่าน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับ Mr.Joe W. Gordon โดยเร็วที่สุด โดยรัฐบาลอเมริกาควรช่วยเหลือให้พลเมืองของท่านได้รับสิทธิการประกันตัว ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา และขอให้รัฐบาลอเมริกาช่วยดำเนินการในการประกันตัว Mr.Joe W. Gordon ต่อศาลให้อย่างเร่งด่วนในทันที
ทั้งนี้ได้แนบสำเนาจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของ Mr.Joe W. Gordon จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขียนถึงท่านประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทางสถานทูตฯได้ช่วยนำจดหมายฉบับนี้ไปส่งมอบให้ถึงมือของประธานาธิปดีโอบาม่า
แด่เสรีภาพของมนุษยชาติทั้งปวง
เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย
27 กันยายน 2554 ณ หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย
Dear U.S. Ambassador to Thailand,
On May 25, 2011, Thai officers arrested Mr. Joe W. Gordon, a U.S. citizen, in his residence in Nakornrajsima, under the charge of Lese Majeste Law. Mr. Gordon was accused of translating “The King Never Smiles”, a text book used in Yale University, into Thai, under the pseudonym “Nai Sin Sae-Jiw”. Thai court has been objecting to bail while no relevant fact has been proved.
On August 17, 2011, Thai Criminal Court accepted the charge of Mr. Gordon, and consequently, United States Embassy in Thailand published an official statement titled "Embassy Statement on U.S. Citizen Joe Gordon" on its official website (bangkok.usembassy.gov) three days later. It is stated “The United States of America is disappointed that Thai prosecutor has decided to sue Mr. Joe W. Gordon, a U.S. citizen, under the charge of Lese Majeste Law. U.S. administrators has extensively discussed with Thai administrators about the case, especially on Mr. Gordon’s possibility to maintain his rights as a U.S. citizen.” The statement also says “We entreat that Thai official ensure that the right to freedom of speech and expression is to be respected and that Mr. Gordon will be treated righteously.”
However, Thai Government has not made any response to this request in the past five months, and Mr. Joe W. Gordon is still improperly confined in Bangkok Remand Prison.
On behalf human rights activist group in Thailand, we have come together and have callings for United States government as well as to every American citizens.
1. We demand the United States government to urgently assist Mr.Joe W. Gordon, a U.S. citizen, to receive a release as soon as possible. The article 112 of criminal code or Les Majeste Law is clearly problematic in terms of both enforcement by the state officials and its content that violates human rights and freedom of speeches. We demand the United States government to consider about this seriously and intervene with no delay to give back freedom to Mr.Joe W. Gordon, your citizen.
2. In occasion that Mr. President Barak Obama of the United States will soon meet with Prime minister Yingluk Shinawatra of Thailand, we demand the United States government to raise the issue of human rights and freedom violation by the article 112 Les Majeste law to discuss with the Thai Prime Minister as the first priority. In order to seek for solutions on a basis to protect rights and liberty of both country's citizens, Lese Majeste law in Thailand that is being a controversial issue both in Thailand and internationally must be discussed.
3.We demand the United States government to clarify its position towards Thai judicial system after it has rejected a right to receive bail of Mr.Joe W. Gordon who is being imprisoned all these times without proofs that he really committed a crime as the court claims. This is absolutely contrasting to the legal principle of a liberal democratic country which suggests that in any cases, the accused must be always considered as "not-guilty" until there is enough proof that the accused really committed a crime. Conversely, the Thai state always acts towards the "non-guilty" persons as if they are already "guilty".
These are reasons that we come to raise our demand to you, to bring back justice to Mr.Joe W. Gordon with no delay. The United States government should assist in order to ensure rights to bail for your citizen. United States government should also help proceeding with bail process to Thai court immediately.
We also attach a letter written by Mr.Joe W. Gordon from Bangkok Prison, addressed to Mr.President Barack Obama of the United States for the U.S. embassy to pass it to Mr. President, in which your assistance would be very much appreciated.
To Liberties of all Humanity,
Activists for Democracy Network
September 27, 2011
In front of US embassy, Bangkok.